เมื่อวันที่ 4 เม.ย.68 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า หลังจากที่ DSI รับ กรณีเหตุตึก สตง.ถล่มหลังแผ่นดินไหว ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษในความผิด ว่าด้วยการเสนอราคาต่อรัฐ ส่วนการประกอบธุกิจของคนต่างด้าว ทางเราก็จะดูควบคู่ไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นว่ามีการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ และเบื้องต้นไปตรวจสอบที่บ้านของนายประจวบ ศิริเขตร ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ถือ หุ้น102,000 หุ้น ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด คิดเป็น กว่าร้อยละ 10 เมื่อไปตรวจสอบที่บ้านไม่เจอตัว แต่ได้สอบสวนภรรยา นายประจวบออกจากบ้านไป 2-3 วัน ก่อนที่ ตำรวจจะมา และทราบว่านายประจวบมีรายได้น้อยมาก ประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน จากการทำงานรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า ข้อมูลนายประจวบ ไม่สอดคล้อง และยังพบว่ายังไปถือหุ้น นิติบุคคลอีก 10 บริษัท มีแนวโน้มว่าเป็น นอมีนี หรือ การถือหุ้นอำพราง ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นอยู่ระหว่างการติดตามตัว

เช่นเดียวกับ นางสาวกนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ที่ปรึกษาคดีพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ดีเอสไอ ที่บอกเสริมว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เดิมที่ก่อตั้งมีผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คน เป็นนิติบุคคลก่อน และในช่วงแรก นายมนัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 306,000 หุ้น ในวันแรก จากนั้นค่อยโอนให้ นายโสภณ มีชัย จนเหลือแค่ 3 หุ้นเท่านั้น ส่วนนายโสภณ มี 407,997 หุ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบว่า บุคคลทั้ง 3 ยังไม่เคยประกอบอาชีพในการรับเหมาก่อสร้างมาก่อนแต่กลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่แบบนี้และรับงานภาครัฐได้อย่างไร จากตรวจสอบเจอทั้งหมด 29 โครงการ ทั่วประเทศ เป็นเงิน  2.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งนายโสภณยังเป็นผู้ให้บริการกับคนจีนอีก 1 คน ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบเช่นกัน

ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดี ดีเอสไอ บอกว่า บริษัทไชน่าเรลเวย์ฯ อ้างตัวว่าเป็นไทยแต่ไม่มีประสบการณ์และมาร่วมกับบริษัทไทย ประมูล ซึ่งต้องดูว่าคนไทยรู้เห็นเป็นใจหรือไม่และเอกสารมันเท็จหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบ รวมถึงจะมุ่งไปดูประเด็น การทำกิจการร่วมค้าของที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมค้ากับนิติบุคคลของไทย 11 บริษัท โดยเฉพาะตึก สตง. ที่บริษัท อิตาเลียนไทย ร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ว่าเป็นกิจการร่วมค้าในการประมูลอาคารดังกล่าว โดยจะขอเวลา ประมาณ 2 เดือน ในการตรวจสอบว่าเอกสารทั้งหมด ว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และ 29 โครงการที่ร่วมกับบริษัทไทย ที่รับงานโครงการจากรัฐบาลไปทำ ว่าทำไมถึงต้องอำพราง ทั้งที่เป็นคนไทย แต่ไม่ประมูลเอง ทำไมถึงต้องร่วมกับบริษัทที่มีชื่อเสียงในการทำให้รัฐเชื่อมั่นและร่วมลงทุน

ส่วนที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมกับ บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ที่ไปประมูล ตึก สตง. ในราคา 2,136 ล้านบาท จากราคากลาง 2,500 บาท มองว่าเป็นการฟันราคาเจ้าอื่นหรือไม่ และต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เหตุผลอะไรทำให้รัฐหลงเชื่อและใช้บริการ

ด้าน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกเสริมว่า ปัจจุบันได้มีการตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นมาแล้ว 36 คน ในการสอบสวนเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่จะมีการรวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ ในการหาสาเหตุของเรื่องนี้นอกเหนือจากเรื่องของภัยพิบัติ อีกทั้งยังต้องตรวจสอบเรื่องของงานทะเบียนของบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในเมืองไทยว่าถูกต้องหรือไม่ด้วย