แม้จะจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ระหว่าง พรรคเพื่อไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นเจ้าของพรรค กับ พี่น้อง 3 ป. และ อีลีท ชนชั้นนำขั้วอนุรักษ์นิยม ก็ตาม
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นความจำเป็น ที่ต้องจับมือ พรรคเพื่อไทย เพื่อสกัดการเข้าสู่อำนาจรัฐ ของ พรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล เดิม เพื่อปกป้องสถาบันฯ
ความรู้สึกที่ยังเป็น ศัตรู กันของ 2 ขั้ว จึงยังคงอยู่ในใจ ของทั้ง2 ฝ่าย แต่ต้องมาจับมือกัน ภายใต้ดีล ที่จะไม่มีการล้างบาง เช็คบิลย้อนหลังกัน ส่วนฝ่ายทหาร ก็ต้องไม่ปฏิวัติรัฐประหาร และ สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
จึงยังคงเห็นร่องรอย จากเอกสารของ กอ.รมน. ที่ ชยพล สท้อนดี สส.พรรคประชาชน นำมาอภิปรายฯในสภา เพื่อตอกลิ่ม 2 ขั้ว ให้ ทักษิณ และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เห็นว่า กองทัพ และขั้วอนุรักษ์นิยม ก็ยังคงมองตนเอง เป็นคนละฝ่าย และถึงขั้นระบุว่า เป็นบุคคลที่ใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ
ขณะที่ฝ่าย นายทักษิณ ก็ย่อมต้องยัง คาใจ ฝ่ายทหาร ที่ รัฐบาลชินวัตร โดนปฏิวัติมา 2 ครั้ง โดยเฉพาะ ขั้วอำนาจ 3 ป. แต่ก็ต้องปรับความคิดใหม่ เพราะได้ ดีลกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี จนได้กลับไทย แถมเป็นช่วงที่ ขั้วบ้านสี่เสาเทเวศร์ อัสดงไปแล้ว
จะเห็นได้ว่าในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังคงเก็บโควตาเก้าอี้ รมว.กลาโหมไว้ อยู่ยังไม่ปล่อยให้กับพรรคอนุรักษ์นิยมโดยเฉพาะ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคดีเอ็นเอ.บิ๊กตู่ ที่ให้เป็นแค่รมช.กลาโหมเท่านั้น
มันเป็นการสะท้อนว่า ทักษิณ ก็ยังไม่ไว้วางใจในกองทัพ จึงยังต้องคนของพรรคเพื่อไทยจาก สุทิน คลังแสง มาเป็น ภูมิธรรม เวชยชัย คุมกลาโหม อยู่
รวมถึงความพยายามในการจะแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 เพื่อเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองมีส่วนในการแชร์อำนาจการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลและโดยเฉพาะผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะผู้บัญชาการเหล่าทัพคัดค้าน
ดังนั้นนายทักษิณรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนายกแพทองธาร ก็ต้องพยายามหาแนวร่วมฝ่ายทหาร ให้มากขึ้น เพราะบรรดานายทหารที่เคยได้ชื่อว่าเป็นทหารแตงโม หรือสายชินวัตร ก็เกษียณราชการหมดอำนาจจากกองทัพไปแล้วแม้แต่เตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนของนายทักษิณ จึงทำให้ มีการจับตามาที่ “บิ๊กอ๊อบ“ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ยุคที่ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพที่สนิทสนมและประสานงานในการช่วยสนับสนุนรัฐบาลมาตลอด
จนมาในยุคนี้นางสาวแพทองธาร ก็ไว้วางใจมอบหมายให้ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็น ประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน(กก.ปชด.) และ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ปชด. กลุ่มการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ปัญหายาเสพติดและปัญหาชายแดนต่างๆ
โดยการสนับสนุนของนายภูมิธรรมเองและ “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ รมว.กลาโหม ที่ถือว่าเป็นการติดดาบให้กับพลเอกทรงวิทย์เพราะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ แต่ก็ไม่ได้คุมกำลังรบ แม้ว่า คำสั่งนั้นมีทุกกระทรวงทบวงกรมและส่วนราชการมาอยู่ภายใต้ ศอ.ปชด. ก็ตาม แต่พลเอกทรงวิทย์ ยังไม่ได้คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ
ดังนััน ในนาม ปชด. พล.อ.ทรงวิทย์ จึงได้ ออกคำสั่ง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ ตั้ง 3 ฉก. คือ ฉก.331 ฉก.332 และ ฉก.333 โดยมี ผบ.ทบ.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ. เป็น ผอ.ฉก. เอง จากเดิมที่จะส่งเฉพาะผู้แทนของแต่ละเหล่าทัพเท่านั้น
เพราะตามโครงสร้าง ในคำสั่งมีแค่ ผบ.ทบ. และ ผบ.ตร. เป็นรอง กก. ปชด. เท่านั้น พลเอกทรงวิทย์ จึงหารือ และขอให้ บิ๊กปู พลเอกพนา แล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. ที่รุ่นน้อง ตท.26 “บิ๊กแมว” พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. รุ่นพี่ ตท.23 และ “บิ๊กไก่” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เพื่อนเตรียมทหาร 24 ให้เข้ามาเป็น ผอ.ฉก. เหล่านี้ ด้วยตนเอง
โดยศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทางบก (ฉก.331) มีผู้ผบ.ทบ. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ (ผอ.ฉก.331) ส่วน ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล (ฉก.332) มี ผบ.ทร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ (ผอ.ฉก.332) และ ฃ ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ท่าอากาศยานและคลังสินค้า (ฉก.333) มีผบ.ทอ. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ (ผอ.ฉก.333)
และ ยังมี ในส่วนตำรวจ มี ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ฉก.88) มีจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ (ผอ.ฉก.88) พล.อ.ทรงวิทย์ ในฐานะ ผอ.ศอปชด. จึงมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คุมทุกเหล่าทัพ ภายใต้หมวก ปชด. สะท้อนถึงพาวเวอร์ ของ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่กำลังถูกจับตามอง
ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็น นายทหารรุ่นใหม่ และเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ ภูมิธรรม พูดคุยในเรื่องต่างๆมากที่สุด เสมือนเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ ถูกจับตามองถึงอนาคตหลังเกษียณราชการตุลาคม 2568 นี้แม้จะจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเพราะเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จนถึงพฤษภาคม 2569 ก็ตาม
ขณะที่นางสาวแพทองธาร ก็ทำหน้าที่ในการประสานกับกองทัพในฐานะนายกรัฐมนตรี ด้วย เรามักจะเชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพมาพบหารือ วงเล็กที่ทำเนียบรัฐบาล อยู่เสมอๆ จนเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.พนา จากที่เคยเป็นนายทหารหน้านิ่ง ก็เริ่มมีรอยยิ้มและพูดคุยกับ นางสาวแพทองธาร มากขึ้น เพราะทั้งเคยประชุมและลงพื้นที่ด้วยกันมาหลายครั้ง
แล้วจะเห็นได้ว่านางสาวแพทองธาร ได้มาที่กองบัญชาการกองทัพบกเพื่อประชุม ศอ. ปชด. โดยมี พล.อ.พนา เป็นเจ้าภาพสถานที่ในการต้อนรับและจัดวงในการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เพิ่มความใกล้ชิดสนิทสนมกันให้มากขึ้น
อาจเรียกได้ว่า นี่เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง ของนายกฯหญิงในการสร้างความสัมพันธ์ กับผู้นำกองทัพ แบบนิ่มๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะถึงอย่างไรก็ต้องจับมือกับขั้ว อนุรักษ์นิยมเช่นนี้ต่อไปอีกยาวนาน
โดยที่คาดหวังว่าจะไม่ซ้ำรอยอดีต นายกฯหญิง ชินวัตร ผู้เป็นอา