สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

วัดพลับ หรือ “วัดราชสิทธาราม” เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ (ฝั่งธนบุรี) นับเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นแหล่งกำเนิดพระเนื้อผงยอดนิยมที่เรียกขานกันในนาม “พระวัดพลับ” อมตะพระกรุเก่าที่มีอายุมากกว่า 200 ปี สูงกว่า “พระสมเด็จทั้งวัดระฆังและวัดบางขุนพรหม”  เสียอีกถึงแม้ลักษณะองค์พระจะดูง่ายๆ ไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย ทำให้ ‘พระวัดพลับ’ ได้รับความนิยมอย่างสูง

ปัจจุบันแทบจะหาดูหาเช่าของแท้ยากเอามากๆ พระวัดพลับ แตกกรุเมื่อประมาณปี พ.ศ.2470 ท่านเจ้าอาวาสวัดพลับจึงทำการเปิดกรุพระเจดีย์อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่ามีโพรงใหญ่อยู่กลางพระเจดีย์ และพบ “พระวัดพลับ” อีกเป็นจำนวนมาก และยังพบ “พระสมเด็จอรหัง” อีกจำนวนหนึ่งด้วย มีทั้ง พิมพ์สามชั้นและพิมพ์ฐานคู่ ซึ่งพระสมเด็จอรหัง นั้น สมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เป็นผู้สร้าง ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดพลับมาก่อน ประกอบกับพระวัดพลับเป็นพระเนื้อผงสีขาว และมีส่วนผสมคล้ายคลึงกับพระสมเด็จอรหังมาก จึงสันนิษฐานได้ว่า “พระวัดพลับ” ก็น่าจะสร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เจ้าตำรับพระผงเช่นกัน

พระวัดพลับพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก

เนื้อหามวลสารของพระวัดพลับและพระสมเด็จวัดระฆังจะดูคล้ายคลึงกันมาก คือ เนื้อขององค์พระเป็นสีขาว มีความหนึกนุ่ม และมีรอยแตกร้าวแบบไข่นกปรอด จะมีความแตกต่างกันตรงที่พระวัดพลับบางองค์จะมีรอยรานของเนื้อพระอันเกิดจากความร้อน ซึ่งพระสมเด็จวัดระฆังจะไม่ปรากฏรอยรานเลย แต่ก็ไม่ถือเป็นเอกลักษณ์สำหรับพระวัดพลับทุกองค์ และพบที่ทำด้วยตะกั่วก็มี มักทำแต่ขนาดเล็กและไม่ค่อยเป็นที่นิยม   

พุทธลักษณะโดยทั่วไปพระวัดพลับ ที่พบนั้นมีมากมายหลายพิมพ์ องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิก็มี เป็นพระไสยาสน์ก็มี เป็นพระปิดตาก็มี หรือแบบ 2 หน้าก็มี และได้รับการขนานนามตามพุทธลักษณะขององค์พระ อาทิ พิมพ์วันทาเสมาหรือพิมพ์ยืนถือดอกบัว,, พิมพ์พุงป่องใหญ่, พิมพ์พุงป่องเล็ก, พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง, พิมพ์พระภควัมบดีใหญ่-เล็กเป็นต้น สำหรับวันนี้เราจะกล่าวถึงแนวทางในการพิจารณาพระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่,พิมพ์ตุ๊กตาเล็กมีรายละเอียดดังต่อไปนี้                                                       

พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เรียกตามพุทธลักษณะองค์พระคล้ายกับตุ๊กตาเด็กเล่น  ขนาดองค์พระกว้างประมาณ 1.7-2 ซม. และสูงประมาณ 2.5-3 ซม.มีทั้งปีกกว้างและปีกแคบ ความโดดเด่นจะอยู่ที่องค์พระเพียงอย่างเดียว ปราศจากลวดลายอื่นใดมาประกอบทั้งสิ้น ลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิขัดราบ ด้านหลังนูนแบบหลังเบี้ย หรือหลังเต่า มีหลักการพิจารณาเอกลักษณ์แม่พิมพ์ในเบื้องต้นดังนี้                     พระวัดพลับพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่     

ตำหนิที่ 1 งค์พระจะแลดูอ้วนใหญ่ แต่งามสง่าอยู่ในที

ตำหนิที่ 2 อิริยาบถประทับนั่งดูเข้มแข็ง

ตำหนิที่ 3 พระพาหา (แขน) อยู่ในลักษณะหักศอก ต้นพระพาหา (แขน) ใหญ่ 

ตำหนิที่ 4 การประสานพระหัตถ์ (มือ) ค่อนข้างแข็ง

สำหรับพิมพ์ตุ๊กตาเล็กพุทธลักษณะองค์พระเป็นเหมือนพิมพ์ตุ๊กตา องค์พระประทับนั่ง ปางสมาธิขัดราบ เช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า กว้างประมาณ 1 ซม. สูงประมาณ 1.5-2.0 ซม. บางองค์ปีกกว้าง บางองค์ปีกแคบ โดยเฉพาะองค์ที่ปีกแคบมากจะแลดูองค์พระเล็ก บางคนเรียกว่า “พิมพ์ไข่จิ้งจก” คือ มีลักษณะเล็ก และหลังนูน คล้ายไข่จิ้งจก มีหลักการพิจารณาเอกลักษณ์แม่พิมพ์ในเบื้องต้นดังนี้                              

ตำหนิที่ 1 เค้าพระพักตร์ใหญ่

ตำหนิที่ 2 พระหนุ (คาง) สอบแหลม

ตำหนิที่ 3 การทิ้งพระหัตถ์ดูเหมือนหักเป็น 2 ท่อน

ตำหนิที่ 4  การประสานพระหัตถ์เป็นเส้นใหญ่เท่ากันหมด

ตำหนิที่ 5  ปลายพระบาทด้านขวาขององค์พระเฉียงทแยงขึ้นมา

ส่วนด้านพุทธคุณนั้นพระวัดพลับทุกพิมพ์ มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ และแคล้วคลาดคงกระพันชาตรีเป็นเลิศยิ่งนักแลครับผม

ชึ้ตำหนิพระวัดพลับพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก ชึ้ตำหนิพระวัดพลับพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่