ลีลาชีวิต /  ทวี สุรฤทธิกุล

“ความเป็นญาติ” คือความสัมพันธ์ที่ธรรมดาที่สุดของคนไทย เพราะพบเห็นได้ทั่วไป แต่ลึกซึ้งและแนบแน่น

เมื่อท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียนจบมาจากมหาวิทยาลับออกซฟอร์ดกลับมาถึงเมืองไทย ก็ต้องถือว่าเป็น “หนุ่มเนื้อหอม” มาก ๆ คนหนึ่ง ด้วยความเป็น หนุ่มนักเรียนนอก เชื้อพระวงศ์ และ “หน้าตาดี” แถมยังมีน้ำใจกว้างขวาง จึงมีคนมารายล้อมมาก เพียงแต่ไม่ใช่สาว ๆ ที่สมัยนั้นก็ยังหัวโบราณ เก็บเนื้อเก็บตัว แต่เป็นเพื่อนหนุ่ม ๆ ที่ตามกินตามเที่ยวกันอยู่เป็นประจำ

ก่อนอื่นคงต้องกล่าวถึงหน้าที่การงานของ “คึกฤทธิ์หนุ่ม” คนนี้เสียก่อน ด้วยความเป็น “นักเรียนนอกหนุ่มเนื้อหอม” จึงดูเหมือนว่าจะมีการจับจองตัวท่านไว้ให้ทำงานที่เป็นพิเศษอยู่ก่อนแล้ว อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า พอถึงบ้านได้ไม่กี่วันก็ต้องนุ่งผ้าม่วงใส่เสื้อราชปะแตนนั่งรถไปที่กระทรวงการคลัง ที่สมัยนั้นยังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง (ด้านทางเข้าประตูวิเศษไชยศรี ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร) โดยได้ไปรายงานตัวกับอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อเริ่มต้นชีวิตข้าราชการที่นั่น ด้วยอายุ 22 ปี ใน พ.ศ. 2476 ที่เพิ่งเรียนจบมานั่นเอง จึงถือว่ายังเป็น “ละอ่อน” อยู่มาก แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้า เพราะในปีต่อมาก็ได้ไปทำงานกับนายเจมส์ แบกซ์เตอร์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ผู้ที่รัฐบาลไทยจ้างมาเพื่อเตรียมการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นเลขานุการของนายแบกซ์เตอร์ จนกระทั่งนายแบกซ์เตอร์หมดสัญญาจ้าง คึกฤทธิ์หนุ่มก็ถูกส่งตัวกลับมาที่กระทรวงการคลัง และได้ทำงานกับพระยาไชยยศสมบัติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง พอถึงปี ๒๔๗๘ พระยาไชยยศสมบัติก็ลาออกมาเป็นประธานกรรมการสยามกัมมาจล(ธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน) จึงได้ชวนคึกฤทธิ์หนุ่มออกมาทำงานด้วย แล้วให้ขึ้นไปเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานครลำปาง ในปี 2479 ด้วยวัยแค่ 25 ปี โดยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้แต่งงานกับ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ ในปีนั้นด้วย เมื่อแต่งงานแล้วจึงได้เดินทางไปรับตำแหน่งผู้จัดการธนาคาร ณ จังหวัดลำปางนั้น

ก่อนที่จะไปเล่าถึงชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์และครอบครัวที่นครลำปาง ผมจะขอเล่าเรื่องที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เล่าให้ฟังเฉพาะ “พวกคนหนุ่ม ๆ” เพื่อรำลึกความหลังในช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิต จากช่วง “คนโสด” สู่ “คนมีครอบครัว” และเป็น “วิถีธรรมดา” ของปุถุชนทั่ว ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เป็นปุถุชนคนธรรมดานี้ด้วยคนหนึ่ง

สมัยที่เริ่มทำงานที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ต่อเนื่องด้วยเป็นเลขานุการของนายเจมส์ แบกซ์เตอร์ ก่อนที่จะลาออกมาเพื่อไปเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ที่ลำปาง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้ใช้ “ชีวิตหนุ่ม” อย่างสุดเหวี่ยงอยู่ระยะหนึ่ง ท่านเล่าว่าพอเลิกงานสักบ่ายสี่โมง กลุ่มคนหนุ่มในกระทรวงการคลัง 4-5 คน ซึ่งก็มีผู้ที่อาวุโสกว่าท่านบางคนเป็นผู้นำและพาไป “ดื่มกิน” กันในละแวกรอบ ๆ พระบรมมหาราชวัง บ่อยครั้งก็ดึกดื่นหรือเมามาย โดยที่บ่อยครั้งเช่นกันที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อาสาเป็นเจ้ามือ

ไม่เพียงแต่ไปเที่ยวดื่มกิน แต่ก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับ “การเที่ยวแบบผู้ชาย” นั้นด้วย เพียงแต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้เล่าในทางเซ็กซี่หรือ “โป๊เปลือย” แต่ประการใด แต่เล่าให้เห็นบรรยากาศและ “ภาพ” ที่ติดตาติดใจท่านบางภาพ โดยเฉพาะ “ภาพขำ ๆ” ที่สะท้อนถึงสังคมและวัฒนธรรมบางเรื่องในสมัยนั้น

สถานที่ท่องเที่ยวของผู้ชายใน พ.ศ. 2476 - 2478 ส่วนใหญ่จะอยู่นอกคูเมืองชั้นใน ตั้งแต่รอบๆ คลองหลอดออกไปจนถึงคลองบางลำพู แต่สภาพของ “ที่ทำการ” ออกจะทรุดโทรม ส่วนใหญ่จะเป็นเรือนแถวปลูกชั่วคราว กั้นห้องด้วยฝาไม้ไผ่ขัดแตะ เตียงก็เป็นแคร่ไม้ไผ่เช่นกัน เพียงแต่มีเสื่อปูทับอีกผืนหนึ่งกับผ้าขาวม้าหรือผ้าพื้นเก่า ๆ ปูข้างบนอีกที (ถ้าจะให้หรูหราเป็นบ้านฝาไม้กระดานหรือบ้านตึกก็จะต้องไปถึงย่านวังบูรพาและย่านเยาวราช) คนที่ไปเที่ยวจะได้รับกระโถน 1 ใบกับขวดเหล้าหรือเบียร์ที่เป็นขวดกลม ใส่น้ำถือเข้าไปไว้ชำระล้าง เมื่อเสร็จกิจแล้วก็ใช้ผ้าปูบนแคร่นั้นเช็ด ก่อนที่จะแต่งตัวออกมา เป็นอันจบ “พิธี”

ส่วนสำคัญของ “พิธี” ที่ว่านั่นก็คือการแต่งตัวให้แขก อย่าลืมว่าคนที่ไปเที่ยวส่วนใหญ่คือข้าราชการหนุ่ม ๆ เมื่อตอนเข้าไปก็มักจะเมามายพอสมควร เมื่อเสร็จกิจแล้วจะต้องกลับบ้านก็ต้องแต่งตัวให้เหมือนเดิม คนพวกนี้แต่งตัวออกจากบ้านด้วยชุดผ้าม่วงและเสื้อราชปะแตน โดยเฉพาะผ้าม่วง(จริง ๆ คือมีสีออกน้ำเงินหม่น ๆ ทอจากฝ้ายหนา ๆ เมื่อซักแล้วต้องลงแป้งและรีดด้วยเตารีดใส่ถ่านแบบโบราณให้เรียบ)ที่ต้องถอดออกก่อนแล้วพับให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ยับย่นจนมีรอยพิรุธ เมื่อเสร็จกิจแล้วก็ต้องนุ่งกลับคืนให้เรียบร้อยสวยงามดั้งเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ของ “หนู ๆ” ที่ไปใช้บริการนั่นเอง เพราะหนุ่ม ๆ ที่ไปใช้บริการนั้นเมามากจนนุ่งผ้าเองไม่ได้ ทีนี้การนุ่งจูงหรือโจงกระเบนแบบคนไทยสมัยก่อนไม่ได้ทำกันง่าย ๆ ต้องมีขั้นตอนที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ แม้แต่ก่อนจะออกจากบ้าน ถ้าจะให้สวยงามก็ต้องมีคนช่วย ดังนั้น “สถานที่ท่องเที่ยว” ใดจะได้รับความนิยม เป็นที่ไปใช้บริการของพวกข้าราชการหนุ่ม ๆ นั้น ก็วัดกันด้วยฝีมือในการ “นุ่งผ้าม่วง” ให้กับหนุ่ม ๆ ของบรรดาน้องหนูทั้งหลายนี่แหละ ยิ่งไปกว่านั้นพวกหนุ่ม ๆ เมื่อเจอกันในตอนค่ำ ๆ (ซึ่งบางคนอาจจะไปรับบริการอย่างว่านั้นมาแล้ว) ก็สามารถทายได้เลยว่าหนุ่มๆ คนไหนไปรับบริการมาจาก “บ้าน” ไหน ก็โดยดูจากฝีมือในการนุ่งผ้าม่วงที่ปรากฏให้เห็นนั่นเอง

หลายท่านอาจจะสนใจว่าในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นบ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร  ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า กรุงเทพฯเวลานั้นยังมีชื่อเรียกว่า “พระนคร” สภาพทั่วไปค่อนข้างเงียบสงบ จะคึกคักบ้างก็ตอนเช้ากับตอนบ่าย ตอนเช้าก็ออกมาใส่บาตรและจับจ่ายซื้อข้าวของในตลาด ตอนบ่ายก็เช่นกันที่มักจะมีการนัดหมายไปเยี่ยมเยียนกันในหมู่ญาติมิตร การสัญจรก็ใช้เรือเป็นหลัก รถยนต์มีน้อย ที่วังถนนพระอาทิตย์ของท่านพ่อของท่านก็มีรถ แต่ใช้กันในหมู่พวกพี่ ๆ ท่านเองใช้รถรางเดินทางไปที่ทำงาน (ปัจจุบันวังนี้เป็นสถานที่ทำการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย บนถนนพระอาทิตย์ – FAO) จนเมื่อกลับมาทำงานที่พระนครอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ซื้อรถส่วนตัวมาใช้ โดยรถคันแรกของท่านเป็นรถจี๊ปมือสองที่ทหารใช้กัน จากนั้นเมื่อสงครามจบลงจึงได้ซื้อรถเก๋งยี่ห้อสแตนดาร์ด สีดำ ซึ่งท่านก็ได้มาซื้อที่และปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ กับ ม.ร.ว.บุญรับ พี่สาว แถวถนนสวนพลู (สมัยก่อนเป็นแค่ซอย จึงยังมีคนเรียกติดปากถึงบ้านของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “บ้านซอยสวนพลู”) การมีรถยนต์ก็ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ซึ่งท่านก็ได้ใช้ขับไปทำงานที่มหาวิทยาลัย ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความมีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งของท่าน คือความเป็น “อาจารย์” ในเวลาต่อมา

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านมีชีวิตวัยหนุ่มหรือ “ความเป็นโสด” ค่อนข้างสั้น เพราะพอทำงานได้สัก 2 ปี ก็มี “กามเทพ” มาดลให้สละโสด เป็นกามเทพที่มาในร่างของเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับยุคนั้น นั่นก็คือ แทนที่จะเป็น “ภาพวาดดลใจ” ก็กลับเป็น “รูปถ่ายดลจิต” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชอบที่จะเล่าถึงเรื่องนี้อย่างโรแมนติคสุด ๆ เหมือนกับว่าเป็นความประทับใจครั้งที่เป็นสุด ๆ อย่างยิ่งในชีวิต

บางทีความโรแมนติคก็ไม่จีรัง แต่ก็เป็น “ภาพฝัง” ที่มีคุณค่าและติดตรึงไปชั่วชีวิต