จากแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอุปสงค์การเดินทางทางอากาศเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งในปี 2567 มีรายได้รวม 26,041 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม 20,638 ล้านบาท มีผลกำไรสุทธิ 3,798 ล้านบาท ผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2567 เป็นจำนวน 5,454 ล้านบาท อัตราการทำกำไร อยู่ที่ 28% และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทในปี 2567 ที่ 2.53 เท่า ดังนั้นเป้าหมายดำปี 2568 ตั้งเป้ารายได้โต 8-9% และมีจำนวนเที่ยวบิน 48,077 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ยเท่ากับ 82%, ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยประมาณ 4,200 บาทต่อที่นั่ง

ต่อยอดการขายเส้นทางสมุย

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า การจะสร้างการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมาย หนึ่งในนั้น คือ การมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการต่อยอดการขายเส้นทางสมุย ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมาแรงด้วยกระแสซีรีส์ White Lotus Season 3 โดยมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2568 เพิ่มขึ้น 14% ซึ่งจะมีการร่วมมือกับเชนโรงแรมใหญ่ อาทิ โฟร์ ซีซั่น, อนันตรา ฯลฯ ทำแคมเปญจับกลุ่มลูกค้าที่ตามรอยซีรีส์ โฟกัสนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย

 

พร้อมกันนี้มุ่งเน้นตลาดที่เติบโตสูง เช่น คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย ตลาดที่มีฟรีวีซ่า เช่น อินเดีย และจีน ขยายการเชื่อมต่อตรงผ่านระบบกลุ่ม API/NDC/Direct Connect ให้มากขึ้น เพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับสายการบินในยุคดิจิทัล ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เริ่มจากสายการบินแควนตัสบนระบบ QDP และพันธมิตรอื่นเพื่อขยายความร่วมมือต่อไป เช่น สายการบิน Thai Airways, British Airways, Lufthansa Group, Emirates, Etihad, Eva Air เป็นต้น

ขยายเส้นทางการบิน

นอกจากนี้ นายพุฒิพงศ์  ยังกล่าวว่า จะมีการขยายเส้นทางการบินโดยจะกลับมาให้บริการเส้นทาง สมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์ และจากปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สให้บริการเที่ยวบินสู่ 19 จุดหมายปลายทาง โดยภายในประเทศมี 11 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา และต่างประเทศมี 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู ฉงชิ่ง

อีกทั้งยังเดินหน้าร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ซึ่งในปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบินทั่วโลก เพื่อให้การบริหารจัดการฝูงบินมีประสิทธิภาพสูงสุด   

พัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบิน

 นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวถึงการลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ว่า ล่าสุดได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)’ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เบื้องต้นโครงการดังกล่าวมีงบการลงทุนอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท และจะเห็นความชัดเจนประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้  

พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบิน โดยมีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุยที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ และสนามบินตราดที่มีแผนขยายรันเวย์ เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินแอร์บัส 320 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ