ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น

ก.วัฒนธรรมสืบสานคุณค่าประเพณีสงกรานต์ไทย บูรณาการร่วมจัดงานในพื้นที่ 17 จังหวัด 5 เมืองอัตลักษณ์ 12 เมืองน่าเที่ยว และกรุงเทพฯ วัดสุทัศน์ สยาม สามย่าน ถนนสีลม

3 เม.ย. 68 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มีการจัดกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์” ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารวธ สวธ. และผู้เข้าร่วมงาน บรรยากาศเต็มไปด้วยความงดงามและอบอุ่นรดน้ำขอพรจากศิลปินแห่งชาติ อาทิ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2531 นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พุทธศักราช 2536 นางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พุทธศักราช 2536 นายภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พุทธศักราช 2537 เป็นต้น

รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของการสรรหาและยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จึงจัดให้มีกิจกรรมพิเศษสำหรับศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ทั้งกิจกรรมรดน้ำขอพร เพื่อแสดงความเคารพและเชิดชูเกียรติบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสืบสาน สร้างสรรค์ และเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ นิทรรศการศิลปินแห่งชาติ นิทรรศการผลการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม การแสดงทางวัฒนธรรม แสดงมุทิตาจิตและอวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ตลอดจนการสรงน้ำพระ  

สำหรับการจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ปีนี้ วธ.โดยสวธ.จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "สงกรานต์บ้านฉัน สีสัน แบบไทย สุขไกลทั่วโลก" มุ่งเน้นดำเนินการตามกรอบแนวทาง 4 มิติ 17 มาตรการรณรงค์ ร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นเรื่องคุณค่าสาระ ที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม คำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นที่มีภูมิหลังของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ รวมถึงการร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันสงกรานต์ไทยสู่เวทีโลก และกำหนดจัดงานในพื้นที่ 17 จังหวัด 5 เมืองอัตลักษณ์ 12 เมืองน่าเที่ยว และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร สยาม - สามย่าน ถนนสีลม ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และท้องสนามหลวง

ในส่วนไฮไลต์ของการจัดงาน 5 เมืองอัตลักษณ์ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จัดงานประเพณี ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง วันที่ 12 - 16 เม.ย. มีขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ นิทรรศการสงกรานต์ล้านนา การแสดงศิลปวัฒนธรรม การทำบุญตักบาตรวันสงกรานต์ จ.ขอนแก่น จัดงานวิถีชีวิตชาวอีสาน ถนนข้าวเหนียว วันที่ 8 - 15 เม.ย. มีประเพณีงานสืบสานสงกรานต์วิถีไทยบ้าน รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เทศกาลดอกคูนเสียงแคน การแสดง แสงสีเสียง การเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ จ.ชลบุรี จัดงานชลบุรี อัตลักษณ์วิถีชีวิต Pattaya Old Town วันที่ 17 - 19 เม.ย. มีรำวงย้อนยุค การละเล่นพื้นบ้าน การสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ ประติมากรรมเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จ.สมุทรปราการ อัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนมอญ วันที่ 12-13 และ 25-27 เม.ย. มีสาธิตการทำธงตะขาบ การละเล่นพื้นบ้าน ขบวนรถบุปผชาติ วิถีชีวิตชุมชนมอญ จ.นครศรีธรรมราช จัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร หนึ่งเดียวในไทย วันที่ 11 - 15 เม.ย. มีสรงน้ำพระบรมธาตุ ประเพณีแห่นางดาน และพิธีโล้ชิงช้า หนึ่งเดียวในไทย นอกจากนี้ยังมี 12 เมืองน่าเที่ยว ได้แก่ เชียงราย น่าน นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ หนองคาย สุรินทร์ สงขลา พัทลุง ภูเก็ต อย่างไรก็ดีฝากถึงประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ประเพณีสงกรานต์เป็นมากกว่าการเล่นน้ำ แต่เป็นเทศกาลแห่งความรัก ความกตัญญู และความอบอุ่นของครอบครัว ควรค่าแก่การส่งต่อไปสู่สายตาชาวโลก