เมื่อเวลา 17.10 น. วันที่ 4 เม.ย. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายนเรนทร โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามปฏิญญาและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและอินเดีย จำนวน 6 ฉบับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียร่วมพิธีมอบพระไตรปิฏกสากล ฉบับสัชฌายะ พร้อมแถลงข่าวร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในนามรัฐบาลและประชาชนไทย ยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียและคณะ โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งก้าวสำคัญนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโต ความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศและของภูมิภาค
ผู้นำทั้งสองยังได้ตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การซ้อมรบร่วม และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือกับภัยคุกคามทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่
ในด้านเศรษฐกิจ อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเมื่อปี 2567 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้ร่วมกันเจรจาปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดียให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุนระหว่างกัน
ต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยและอินเดียแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสองประเทศในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาโดยเร่งด่วนแล้ว และในระยะต่อไป ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงการพัฒนาเส้นทางพุทธศาสนา (Buddhist Circuit) ให้ขยายครอบคลุมถึงรัฐสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะรัฐคุชราต ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสถานที่สำคัญกับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในบิมสเทค ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวระหว่างไทยและอินเดียมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้สนับสนุนการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินและการเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังเมืองน่าเที่ยวของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ไทยและอินเดียยังเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกการหารือระหว่างกรมการกงสุล เพื่อการคุ้มครองดูแลคนชาติของกันและกันด้วย
ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเวทีพหุภาคีต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงบิมสเทค อาเซียน BRICS และ OECD โดยประเทศไทยพร้อมทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นสมาชิกทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนไทยในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียและการประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อินเดียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะปูรากฐานความร่วมมืออันลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างกันต่อไป
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาระหว่างอินเดียและไทย โดยเฉพาะอิทธิพลของพุทธศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี และความมั่นคง โดยอินเดียได้ให้บริการ Free Visa แก่ชาวไทยและร่วมมือกับไทยในประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งทั้งสองประเทศยังยืนยันจุดยืนร่วมกันต่อเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม และยึดหลักกฎหมาย ทั้งนี้ อินเดียพร้อมเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานได้ผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคอย่างแข็งขัน