เศร้าทั้งหมู่บ้าน เผาศพ บุญรอด วัย 34 ปี แรงงาน เหยื่อ ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถล่ม เสียชีวิต พ่อแม่ ยันไม่ได้หวังเอาชีวิตลูกแลกเงิน ส่วนเพื่อนบ้านแรงงานรอดชีวิต เปิดใจยังอยากกลับไปทำงานอีก เพราะความจน ด้านผู้ใหญ่บ้าน วอนภาครัฐ แก้ปัญหาแรงงานพลัดถิ่น พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร สร้างงานในพื้นที่ ชูปัญหาภาครัฐสนับสนุนโครงการ ไม่ตรงกับความต้องการชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่เมรุวัดป่าคำสว่าง สามัคคีธรรม หมู่ 10 บ้านคำสว่าง ต.วังตามัว อ.เมือง นครพนม นายสมศักดิ์ บุญจันทร์ นายอำเภอเมืองนครพนม เป็นประธาน ประกอบพิธีฌาปนกิจศพ นายบุญรอด โอทาตะวงค์ อายุ 34 ปี แรงงานก่อสร้าง ช่างเชื่อม เสียชีวิต จากแผ่นดินไหว ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่ม โดยมี นายอุลัย โอทาตะวงค์ อายุ 62 ปี พร้อมภรรยา คือ นางสุดา โอทาตะวงค์ อายุ 61 ปี รวมถึงญาติพี่น้อง และชาวบ้าน ร่วมส่งดวงวิญญาณ ตามประเพณีความเชื่อ ท่ามกลางความโศกเศร้า ของชาวบ้าน เนื่องจากเป็นหมู่บ้าน ที่มีแรงงานพลัดถิ่นไปทำงานก่อสร้าง ที่ตึกแห่งนี้ มากถึง 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย สูญหาย อีก 1 ราย และรอดชีวิต กลับบ้านปลอดภัย 3 ราย
ทั้งนี้ ทาง พ่อแม่ ผู้เสียชีวิต ยืนยัน ยังทำใจไม่ได้ ถึงแม้จะได้รับเงินชดเชยเยียวยา รวมเกือบ 2 ล้านบาท แต่ยังรับไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ต้องการเอาชีวิตลูกแลกเงิน พร้อมจะใช้จ่ายประหยัด และเกิดประโยชน์ มากที่สุด
ขณะเดียวกันทางด้าน นายบุญสา ราศรี อายุ 51 ปี รวมถึงลูกชาย คือ นายขจรศักดิ์ ราศรี อายุ 19 ปี แรงงานสองพ่อลูก เปิดเผยว่า ตนไปทำงานได้ประมาณ 1 ปี เพราะมีเพื่อนบ้านชักชวนไป ทำงานเป็นช่างติดตั้งระบบสปริงเกอร์ ดับเพลงภายในอาคาร ยอมรับไม่อยากไปทำงานต่างถิ่น แต่ไม่มีงานทำ หวังเก็บเงินหนีความยากจน ได้ค่าแรงวันละ 900 บาท รวมกับลูกชาย ตกวันละ 1,000 กว่าบาท เพราะในหมู่บ้านไม่มีงานทำ หลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเกิดเหตุทำงานบนชั้น 5 ของตึก ทีแรกนึกว่ามีอาการเวียนหัว แต่ได้ยินเสียงตึกถล่ม จึงวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ลงมาทางบันไดหนีไฟ คิดว่าตัวเองจะไม่รอด ออกมาพ้นตึกจึงถล่มพังทั้งหมด จึงรู้ว่ารอดชีวิต ยืนยันว่า อยากกลับไปทำงานอีก เพราะมีภาระหนี้สิน และต้องหาเงินดูแลครอบครัว ส่วนการดูแลเยียวยา แล้วแต่ภาครัฐจะเห็นใจ
ด้าน นายวินิจ มหาวงศ์ อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้าน คำสว่าง หมู่ 6 ต.วังตามัว อ.เมืองนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่บ้านคำสว่าง เป็นหมู่บ้านแฝด ขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือหมู่ 5 – 6 -10 รวมประมาณ 700 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 3,000 – 4,000 คน ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องแรงงานพลัดถิ่น เพราะส่วนใหญ่ ทำนาปี ปลูกมันสำปะรัง แต่ช่วงฤดูแล้ง จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่จึงเดินทางไปทำงานก่อสร้าง ที่ กทม. คาดว่ามีแรงงานที่ไปทำงานต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า ปีละ 300 – 400 คน ที่ผ่านมา มีระบบชลประทาน แต่ไม่สามารถใช้งานครอบคลุมพื้นที่ บางโครงการที่หน่วยงานภาครัฐจัดสรรลงมา แต่ไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ฝากภาครัฐ รวมถึงรัฐบาล พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ให้เพียงพอ และส่งเสริมอาชีพการเกษตร ให้มีรายได้ จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานพลัดถิ่นได้ มากพอสมควร หากมีรายได้ จะลดปัญหาชาวบ้านไปขายแรงงานต่างจังหวัด