กอปภ.ก. ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวทั่วประเทศ – หลายจังหวัดประกาศเขตช่วยเหลือฉุกเฉิน เร่งสำรวจความเสียหาย-ช่วยผู้ประสบภัย

วันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ชั้น 5 อาคาร 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบหลายพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายและรายงานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที รวมถึงการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว)

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกอปภ.ก. เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวบนบกในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร เมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล รับรู้แรงสั่นสะเทือน โดยมีรายงานพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบครอบคลุม 63 จังหวัด ในจำนวนนี้ มี 18 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับความเสียหายอย่างชัดเจน

เบื้องต้นมีรายงานความเสียหายรวมทั้งหมดใน 129 อำเภอ 383 ตำบล 651 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 1,004 หลัง วัด 82 แห่ง โรงพยาบาล 164 แห่ง อาคารราชการ 19 แห่ง โรงเรียน 69 แห่ง และสถานที่ราชการ 46 แห่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 36 ราย (กรุงเทพฯ 35 ราย นนทบุรี 1 ราย) และมีผู้เสียชีวิต 22 ราย ทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร


กรุงเทพมหานครเร่งเปิดเส้นทาง-ตรวจสอบอาคาร


ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้ได้เปิดถนนกำแพงเพชร 2 ฝั่งขาเข้าบริเวณหน้าอาคาร สตง. จำนวน 1 ช่องทาง ส่วนฝั่ง JJ Mall เปิดการจราจรได้ตามปกติแล้ว โดยประชาชนได้แจ้งขอตรวจสอบอาคารผ่านแอปฯ Traffy Fondue กว่า 17,112 เคส ซึ่งตรวจสอบแล้ว 13,570 เคส เป็นอาคารสีเขียว สามารถใช้งานได้ตามปกติ

ในส่วนของการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่ม เจ้าหน้าที่วางแผนลดการใช้เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือน หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถเข้าถึงโซน B และได้ยินเสียงจากภายในอาคาร ขณะนี้ได้มีการจัดโซนนิ่งใหม่เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และยังคงดำเนินการค้นหาตลอด 24 ชั่วโมง


จังหวัดเชียงราย-เชียงใหม่ เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือ


จังหวัดเชียงราย ได้รับผลกระทบใน 15 อำเภอ 57 ตำบล 147 หมู่บ้าน 3 ชุมชน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 394 หลัง โรงพยาบาล 13 แห่ง รพ.สต. 4 แห่ง โรงเรียน 30 แห่ง อาคารราชการ 10 แห่ง และวัด 8 แห่ง หน่วยงานในพื้นที่ได้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะสถานที่ราชการ วัด และโบราณสถาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบใน 23 อำเภอ 79 ตำบล บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 224 หลัง ผลการตรวจสอบอาคารและโครงสร้างพื้นฐานพบว่า 136 แห่ง ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ขณะนี้จังหวัดกำลังเร่งประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยใน อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสะเมิง และอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด

กอปภ.ก. ย้ำเร่งสำรวจ-ให้ความช่วยเหลืออย่างรอบด้าน


นายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกอปภ.ก. ระบุว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการสำรวจความเสียหายและรายงานข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุม รวดเร็ว และเป็นธรรม พร้อมทั้งแนะนำให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเร่งประสานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หากต้องการขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติม