GISTDA จับมือ 5 หน่วยงานรัฐ ลงนามความร่วมมือใช้ข้อมูลดาวเทียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร
.
3 เมษายน 2568 – สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ 5 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลดาวเทียมในการรับมือกับผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร พิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร


.
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาสนับสนุน การพยากรณ์ความเสี่ยงและผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการบริหารจัดการภาคเกษตรและทรัพยากรน้ำอย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถวางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ภาคเกษตรกรรม การจัดการทรัพยากรน้ำ และการวางแผนนโยบายเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยเน้นการใช้ ข้อมูลดาวเทียม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง


.
ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติในระยะยาว เช่น การติดตามแนวโน้มภัยแล้งและน้ำท่วม เพื่อปรับแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง โดยจะเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมสำหรับการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในด้านการแก้ปัญหาเชิงรุกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี


หน่วยงานที่ร่วมลงนามมีบทบาทสำคัญในการ บูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย
• สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ทำหน้าที่หลักในการประสานและใช้ประโยชน์จากข้อมูล
• กรมการข้าว นำข้อมูลไปพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ
• กรมส่งเสริมการเกษตร นำองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาเกษตรกรและการผลิตให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศ
• กรมชลประทาน ใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการน้ำ
• กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นำข้อมูลไปใช้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสภาพอากาศของประเทศ
ขณะที่ GISTDA จะทำหน้าที่สนับสนุน ข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และการวิจัยพัฒนา


.
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีความร่วมมือกับ GISTDA มาอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้ร่วมลงนามในครั้งนี้ แต่จะมีบทบาทสนับสนุนด้าน ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะ แบบจำลองภูมิอากาศ เพื่อช่วยพยากรณ์ระยะยาวและศึกษาผลกระทบเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งนี้ GISTDA และหน่วยงานพันธมิตรพร้อมเดินหน้าผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อยกระดับ การบริหารจัดการภาคเกษตรและทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้าง ความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว และลดผลกระทบจาก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภาคการเกษตรไทย ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว