บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน ขอมโบราณสร้างปราสาทหินขึ้นทำไม ? ปราสาทหินในสุวรรณภูมิมีมากมาย ลำพังตัวเลขยุครัชกาลที่ห้าก็พบปราสาทหินโบราณแล้วถึง 730 แห่ง ในหนังสือ “นิราศนครวัด” สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ นิพนธ์ไว้ว่า “ปราสาทหินซึ่งขอมสร้าง ถ้างว่าโดยจำนวน นับรวมด้วยกันทั้งที่สร้างด้วยศิลาหรือแลงและอิฐ ในแดนเขมรมีปราสาทหินราว 600 แห่ง ในแดนไทยและแดนลาวของฝร่งเศสมีอีกประมาณ 130 แห่ง ปราสาทหินทั้งปวงนี้สร้างภายในระยะเวลา 600 ปี นับตั้งแต่พุทธศักราชราว 1100 มาจนพุทธศักราช 1700” ตัวเลขจำนวนปราสาทหินที่ถูกต้องล่าสุด ข้าพเจ้าไม่มีกำลังไปตรวจสอบ ขอติดค้างไว้ก่อน ปราสาทหินในอินเดีย ในดินแดนจามเก่า(อยู่ในประเทศเวียดนามปัจจุบัน) ในดินแดนสยาม-ลาว ฯ คงจะมีจุดประสงค์ให้เป็นเทวสถานหรือเทวาลัย แต่ปราสาทหินใน “พระนครหลวง” หรืออังกอร์นั้น หลายๆ ปราสาทสร้างเพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระศพของกษัตริย์ เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จสู่ปรโลกแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถกเรื่องนี้ไว้ว่า (จากหนังสือ “ถกเขมร”) “นักปราชญ์ฝรั่งเศสที่ศึกษาโบราณสถานเหล่านี้อธิบายว่า เหตุผลการสร้างปราสาทนั้นเกี่ยวข้องอยู่กับการพระบรมศพของกษัตริย์ขอมโบราณ จึงน่าจะเข้าใจว่าในรัชกาลหนึ่งๆ นอกจากจะสร้างปราสาทราชวังและวัดวาอารามอื่นๆ แล้ว ยังจะต้องสร้างปราสาทหินขึ้นปราสาทหนึ่งประจำรัชกาลไว้บรรจุพระศพ พระมหากษัตริย์องค์ใดมีบุญบารมีพอสมควรก็สร้างปราสาทแต่พอสมบารมี พระมหากษัตริย์องค์ใดมีบุญญาธิการมาก เช่น พระเจ้าสุริยวรมันผู้สร้างนครวัด ก็สร้างปราสาทเสียใหญ่โตมโหฬารเพื่อ “เบ่ง” พระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์ การสร้างปราสาทหรือ “เขาพระสุเมร” เพื่อไว้พระบรมศพนี้ คงจะได้เริ่มลงมือทำตั้งแต่ต้นรัชกาลทุกรัชกาลไป และพอสิ้นรัชกาลลง ปราสาทสร้างได้แค่ไหนก็คงจะหยุดการก่อสร้างลงแค่นั้น ไม่สร้างต่อ การก่อสร้างนั้นคงก่อสร้างโดยรีบเร่งให้เสร็จเป็นรูปปราสาทพอที่จะบรรจุพระบรมศพได้ก่อน เมื่อการก่อสร้างขั้นนี้เสร็จแล้ว หากพระมหากษัตริย์ยังไม่เสด็จสวรรคต ก็คงจะใช้เวลาที่เหลือต่อไป สลักหินที่สร้างปราสาทนั้นให้เป็นลวดลาย และรูปสลักวิจิตรพิสดารต่างๆ ไปทุกวันจนตลอดรัชกาล เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตลงเมื่อไร การตกแต่งปราสาทก็คงจะหยุดลงแค่นั้นไม่ทำต่อไปอีก เพราะบรรดาช่างทั้งหลายทั้งปวงจะต้องย้ายสถานที่ไปสร้างปราสาทสำหรีบบรรจุพระบรมศพรัชกาลใหม่ต่อไปทันที ด้วยเหตุนี้เอง ปราสาทนครวัดก็ดี และปราสาทหินอื่นๆ อีกหลายแห่ง จึงปรากฏว่าไม่เสร็จบริบูรณ์ มีรอยสลักหินยังค้างไว้ทุกแห่งไป มีร่องรอยแสดงให้เห็นชัดว่าการแกะสลักหินั้นสะดุดหยุดลงมีเหตุให้ต้องเลิกทำไปโดยกระทันหัน...... ข้อสันนิษฐานของผมที่ว่ามานี้จะผิดหรือถูกก็ไม่ยืนยัน แต่สำหรับใจผมเองรู้สึกว่ามีเหตุผลหลายอย่างที่ยืนยันว่า ข้อสันนิษฐานเหล่านี้หากจะพลาดก็คงไม่ไกลนัก ในประการแรก ถ้าหากว่าปราสาทหิน เช่น นครวัด เป็นอารามหรือเทวสถาน สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองศรัทธาของคนทั่วไปตามศาสนาที่นับถือกันอยู่ในขณะนั้น จะเป็นพุทธก็ดี พราหมณ์ก็ดี การก่อสร้างคงจะดำเนินต่อไปจนสำเร็จ ถึงพระมหากษัตริย์ผู้เริ่มสร้างจะสวรรคตลงไปในระหว่างที่สร้างยังไม่เสร็จ พระมหากษัตริย์องค์ต่อไปก็คงจะสร้างต่อไปจนสำเร็จ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า การตกแต่งประดับประดาหยุดกึกลงเฉยๆ นั้น ก็พอจะยืนยันได้ว่า ปราสาทนั้นมิใช่วัดหรือเทวสถานตามปกติ ประการที่สอง ปราสาทหินเช่นนี้ถึงจะกว้างใหญ่อย่างไรก็มีแต่ระเบียงและปราสาทหินซึ่งแคบและเล็ก ดูจะไม่ใช่ที่ที่คนเข้าไปประกอบพิธีตามศาสนา เพราะจะบรรจุคนไม่ได้กี่คนเลย สำหรับนครวัดนั้นมีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือปราสาทหลังกลางที่ตั้งอยู่บนชั้นสามสุดยอดสูงลิบ และจะขึ้นไปด้วยบันไดที่แคบๆ และชันน่ากลัวอันตรายนั้น ฝรั่งเขาบอกว่าเป็นปราสาทที่ประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุอันศักดิ์สิทธิ์ เขาบอกต่อไปด้วยว่า เทวรูปบนนั้นตลอดจนเครื่องประดับอันทำด้วยทองคำและเพชรนิลจินดาอันมีค่า ได้ถูกกองทัพไทยสมัยพระเจ้าสามพระยาเข้ารื้อเก็บและทำลายจนสิ้นไป คงเหลือแต่ฐานศิลาสี่เหลี่ยมเจาะเป็นรู ซึ่งเขาสันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับเสียบแกนใต้เทวรูปให้ยืนอยู่ได้ นักโบราณคดีฝรั่งเศสได้เคยสำรวจลงไปใต้ฐานนั้น ปรากฏว่าสร้างไว้เป็นปล่องศิลาสี่เหลี่ยมลึกลงไปจนถึงฐานปราสาทชั้นล่าง ในปล่องนั้นเขามีทรายละเอียดใส่ไว้จนเต็ม และได้พบเครื่องทองเครื่องเพชรอีกบางชิ้นที่ก้นปล่องนั้น ผมยังไม่เห็นด้วยกับความเห็นชาวฝรั่งเศสในข้อที่ว่าบนปราสาทนั้นตั้งเทวรูป เพราะถ้าเป็นดังนั้นจริง เหตุไฉนใต้เทวรูปจึงต้องมีปล่อง และทำไมในปล่องนั้นจึงจะต้องบรรจุทรายละเอียดใส่ไว้จนเต็ม ข้อที่น่าสันนิษฐานเอาจากหลักฐานที่ปรากฏอยู่นั้นก็คือ ปราสาทหลังกลางที่สูงสุดนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระเจ้าสุริยวรมันเป็นแน่แล้ว ฐานสี่เหลี่ยมนั้นหาใช่เป็นที่ตั้งเทวรูปไม่ แต่เป็นที่ตั้งโกศใส่พระบรมศพ รูที่เห็นอยู่บนฐานนั้นมิใช่เอาไว้เสียบแกน แต่เป็นทางเดินของพระบุพโพหรือน้ำเหลืองจากศพ และทรายละเอียดที่ใส่ ไว้ในปล่องหินลึกจนเต็มนั้น ก็มิใช่อื่นไกลเลยเป็นที่รองรับพระบุพโพให้ซึมลงไปนั้นเอง ที่ต้องทำไว้ลึกมากก็เพื่อป้องกันมิให้กลิ่นน้ำเหลืองระเหยออกมาเป็นปฏิกูลแก่ผู้ที่จะต้องเข้าไปสักการะบูชาพระบรมศพ ภาพจำหลักต่างๆ แห่งนครวัดนั้น ส่อให้เข้าใจไปว่าเป็นเทวสถานของพระวิษณุเป็นเจ้า แต่หลักฐานอื่นก็มีบอ กไว้ด้วยว่า พระเจ้าสุริยวรมันนั้นเองได้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระวิษณุเมื่อเสด็จสวรรคต ฉะนั้น พระบรมศพที่ประดิษฐานไว้บนปราสาทสูงสุดยอดนั้นเอง จึงเป็นวัตถุที่เคารพแทนรูปพระวิษณุ และพระบรมศพที่บรรจุไว้ในโกศ ก็คงจะได้ประดับประดาด้วยอาภรณ์ต่างๆ ให้สมกับที่เป็นพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทั้งนี้เป็นไปตามลัทธิการปกครองระบอบเทวราชาของขอม ซึ่งถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทวะ และเมื่อสวรรคตลงแล้วก็เป็นเทวดาจริงๆ ต้องสร้างเทวาลัยขึ้นสำหรับไว้พระบรมศพและเป็นเทวสถานต่อไป ฉะนั้น นครวัดก็ดี ปราสาทหินอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอีกหลายแห่งก็ดี คงจะเป็นสิ่งก่อสร้างในทำนองนี้ทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ก็คือที่ไทยเราเรียกว่า “พระเมรุมาศ” นั่นเอง ชั่วแต่ว่าทำขึ้นไว้ถาวรด้วยศิลา มิใช่ทำด้วยไม้ด้วยผ้าด้วยกระดาษอย่างของไทยซึ่งเป็นการชั่วคราว และถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง ความสงสัยที่ว่าเหตุไฉนพวกขอมโบราณจึงชอบสร้างปราสาทหินกันนักก็พอจะอธิบายได้ เพราะการสร้างปราสาทหินนั้นเป็นวิธีเดียวของขอมที่จะจัดการกับศพผู้มีบุญ” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า (นิราศนครวัด) “แบบปราสาทหินเทวสถานของขอมที่ทำเป็นฐาน 3 ชั้นบ้าง 5 ชั้นบ้าง แล้วสร้างปรางค์ไว้ข้างบนดังกล่าวมาพิเคราะห์ดูเห็นว่าจะเป็นต้นเค้าของประเพณีการพระศพเจ้านาย ซึ่งยังทำกันทั้งในเมืองไทยและเมืองเขมรจนทุกวันนี้ด้วยอีกอย่างอย่างหนึ่ง เพราะพิจารณาดูรูปทรงเทวสถาน เช่น เทวสถานปักษีจำกรงซึ่งกล่าวมาแล้ว ดูคล้ายโกศและฐานแว่นฟ้าที่ตั้งพระศพเจ้านายประการ 1 และประเพณีแต่งพระศพเมื่อก่อนจะใส่โกศย่ออมแต่งเป็นอย่างเทวดาด้วยอีกประการ 1 ดูเข้ารอยกับคติที่ปรากฏในเรื่องตำนานการสร้างนครวัด ว่าเมื่อพระเจ้าสุริยวรมีนทิวงคตแล้วสมมติเป็นเทวดา ถวายพระนามว่า “สมเด็จพระบรมพิษณุโลก” และสร้างพระรูปเป็นองค์พระนารายณ์ประดิษฐานไว้ในปรางค์ใหญ่ยอดเทวสถานดังนี้ หรือประเพณีทำโกศพระศพพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านาย”