วันที่ 3 เมษายน 2568 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์วิกฤตในประเทศเมียนมาหลังเกิดเหตุ แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตใกล้แตะ 3,000 ราย และยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก ท่ามกลางความพยายามของทีมกู้ภัยที่ยังคงเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิต แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 5 วันแล้วก็ตาม
ในเมืองมัณฑะเลย์ ทีมกู้ภัยและเครื่องจักรกลหนักยังคงรื้อซากอาคารที่พังถล่มอย่างต่อเนื่อง แต่ความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตเริ่มริบหรี่ลงเรื่อย ๆ เจ้าหน้าที่กู้ภัยเผยว่า ขณะขุดค้นกลับพบเพียงศพผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กลิ่นศพเริ่มคละคลุ้งทั่วพื้นที่ โดยเชื่อว่ายังมีศพอีกจำนวนไม่น้อยติดอยู่ใต้ซากอาคาร
* ปาฏิหาริย์ท่ามกลางซากปรักหักพัง
แม้โอกาสรอดชีวิตจะน้อยลง แต่ยังมีเหตุการณ์ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน ทีมกู้ภัยเมียนมาร่วมกับหน่วยกู้ภัยตุรกี สามารถช่วยชายวัย 26 ปี ที่ติดอยู่ใต้ซากโรงแรมสูง 6 ชั้นในกรุงเนปิดอว์ออกมาได้ หลังจากติดอยู่นานกว่า 100 ชั่วโมง
ก่อนหน้านี้ ยังมีการช่วยเหลือ หญิงวัย 63 ปี ที่รอดชีวิตจากซากอาคารในกรุงเนปิดอว์ หลังติดอยู่ถึง 91 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในเมืองมัณฑะเลย์ เด็กสาววัยรุ่น 2 คนและคุณยาย ก็รอดชีวิตจากการติดอยู่ใต้ซากอาคารนาน 4 วัน เพราะมีช่องให้อากาศถ่ายเทได้ และส่งเสียงขอความช่วยเหลือจนเจ้าหน้าที่เข้าช่วยไว้ได้อย่างปลอดภัย
* ยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง-โรงพยาบาลวิกฤต
ทางการเมียนมาเปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2,890 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 4,521 คน ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีก 441 ราย
* UN วอนช่วยด่วน หวั่นโรคระบาดในฤดูฝน
สำนักงานประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) รายงานว่า ผู้ประสบภัยจำนวนมากกำลังขาดแคลนที่พักพิง อาหาร น้ำสะอาด และการดูแลรักษาพยาบาล โดยสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ "น้ำ" เนื่องจากประชาชนหลายชุมชนไม่มีน้ำดื่มหรือระบบประปาใช้ ท่ามกลางอากาศร้อนจัด เสี่ยงเกิด โรคระบาดรุนแรงโดยเฉพาะอหิวาตกโรค
สเตฟาน ดูยาริค โฆษกยูเอ็น ระบุว่า “ทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเมียนมาโดยด่วน ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อฤดูฝนมาถึงในเดือนหน้า”
* อุปสรรคใหญ่: อาฟเตอร์ช็อก-สาธารณูปโภคพัง-สงครามกลางเมือง
ความพยายามในการค้นหาผู้รอดชีวิตยังเผชิญอุปสรรคหลายด้าน ทั้ง แรงสั่นสะเทือนจากอาฟเตอร์ช็อกอย่างต่อเนื่อง, ความเสียหายของระบบสาธารณูปโภค, และสถานการณ์ ความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งทำให้การลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยเป็นไปอย่างยากลำบาก