นักวิชาการเร่งสังคายนาระบบเตือนภัยพิบัติ “ด้วยเซลล์บอร์ดแคสต์” ที่ต้องใช้ได้จริงพร้อมตรวจสอบการใช้งบประมาณ เผย 3 รอยเลื่อนใหญ่ทำแผ่นดินไหวกระทบประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่อ่อนไหวขนาดยักษ์เพิ่มแรงเขย่า3-4 เท่า และลุยตรวจสอบอาคารอ่อนไหวในภาคเหนือ พร้อมเสริมความแข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม "ราชดำเนินเสวนา" ในหัวข้อ “สังคายนาระบบเตือนภัย” เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวแก่สื่อมวลชนและประชาชน พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูประบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำระบบ “เซลล์บอร์ดแคสต์ (Cell Broadcast)” มาใช้เพื่อแจ้งเตือนภัยอย่างทันท่วงที

กรุงเทพฯ เสี่ยงสูง! ดินอ่อนขยายแรงสั่นสะเทือน 3-4 เท่า

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวหลายแห่ง โดยเฉพาะแนวรอยต่อระหว่างเปลือกโลกอินเดียและไทยทางทะเลอันดามันถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครอย่างรุนแรง

มีรอยเลื่อนหลัก 3 แห่งที่ต้องจับตา ได้แก่

รอยเลื่อนกาญจนบุรี – เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ซึ่งอาจส่งผลถึงกรุงเทพฯ

รอยเลื่อนสกาย (Sagaing Fault) – พาดผ่านมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ และย่างกุ้ง

รอยเลื่อนอาระกัน (Arakan) – มีศักยภาพก่อแผ่นดินไหวขนาดเกิน 8.5 แม้ครั้งล่าสุดเกิดเมื่อกว่า 260 ปีก่อน

ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนแอ่งดินอ่อนขนาดใหญ่ ที่สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนได้มากถึง 3-4 เท่า โดยเฉพาะกับอาคารสูงซึ่งมีความถี่การสั่นพ้องกับคลื่นแผ่นดินไหว ส่งผลให้ได้รับแรงสะเทือนรุนแรงกว่าปกติ

อาคาร สตง. ถล่ม - สร้างสถิติโลกจากแผ่นดินไหวที่ไกลที่สุด

เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งเกิดที่เมียนมา ส่งผลให้ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ถือเป็นหนึ่งในสถิติใหม่ของโลกที่แผ่นดินไหวจากระยะไกลทำให้อาคารสูงถล่ม โดยการตรวจสอบพบว่าอาคารขนาดเล็กไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่อาคารสูงได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง

แม้ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2550 โดยแบ่งกรุงเทพฯ เป็น 10 โซน พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แต่จำเป็นต้องตรวจสอบซ้ำว่าการออกแบบเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงใด และมีข้อผิดพลาดใดที่ต้องแก้ไขหรือไม่

นักวิชาการเตือน ระบบ SMS เตือนภัยล่าช้า – ต้องเปลี่ยนเป็นเซลล์บอร์ดแคสต์

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ระบุว่า ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวของไทยยังล่าช้า เช่น ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มี.ค. ที่ผ่านมา คลื่นไหวสะเทือนใช้เวลาเดินทางถึงกรุงเทพฯ ราว 7 นาที แต่การแจ้งเตือนผ่านเว็บไซต์เกิดขึ้นหลังจากอาคารถล่มแล้ว และ SMS ส่งถึงประชาชนล่าช้ากว่าชั่วโมง

เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลได้สั่งการเร่งพัฒนา “ระบบเตือนภัยผ่านเซลล์บอร์ดแคสต์” ซึ่งสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่เสี่ยงภายในไม่เกิน 1 นาที คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้จริงในเดือนกรกฎาคม 2568

สภาองค์กรผู้บริโภคจี้ตรวจสอบงบ – ต้องแจ้งเตือนครอบคลุมทุกกลุ่ม

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า รัฐได้รับงบประมาณพัฒนา “ระบบเตือนภัยผ่านมือถือ” ตั้งแต่ปี 2566 โดยใช้เงินจากกองทุน USO ของ กสทช. ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ยังขาดความชัดเจนในกระบวนการดำเนินงาน พร้อมเรียกร้องให้ระบบนี้ครอบคลุมผู้พิการทางสายตาและการได้ยินด้วย

“ภัยพิบัติไม่ควรถูกการเมืองแทรกแซง หน่วยงานต้องกล้ารับผิดชอบหากระบบแจ้งเตือนล่าช้า เพราะดีกว่าไม่แจ้งเลย รัฐต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนพร้อมรับมือ ไม่ใช่ผลักภาระให้เอาตัวรอดเอง” นายอิฐบูรณ์กล่าว

เร่งเสริมอาคารเสี่ยงในภาคเหนือ – ใช้งบน้อยกว่าสร้างใหม่

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยังเสนอให้เร่งตรวจสอบอาคารเรียนหลายแห่งใน จ.เชียงราย ซึ่งยังไม่ได้เสริมโครงสร้าง ทั้งที่การเสริมความแข็งแรงใช้งบเพียง 10-20% ของการสร้างใหม่ โดยปัจจุบันมีการทดลองติดตั้งอุปกรณ์ตรวจแรงสั่นสะเทือนที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ เชียงราย และโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง เพื่อประเมินความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ และแจ้งข้อมูลต่อผู้ใช้อาคารภายใน 5 นาที หากพบความเสี่ยง

สจล.แนะไทยต้องฝึกประชาชนรับมือแผ่นดินไหวแบบญี่ปุ่น

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำว่า การมีระบบเตือนภัยที่ดีต้องควบคู่กับการฝึกอบรมประชาชนให้รู้วิธีรับมือ เพราะความตื่นตระหนกส่วนใหญ่เกิดจากการไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ

"ญี่ปุ่นฝึกประชาชนตั้งแต่เด็กให้รู้วิธีปฏิบัติตนในเหตุแผ่นดินไหว ส่วนไทยแม้มีการเตือนภัย แต่หากประชาชนไม่รู้วิธีรับมือ ความสูญเสียก็ยังคงเกิดขึ้น" รศ.ดร.คมสันกล่าว