รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล เพลงสรรเสริญพระบารมีแต่งโดยนายปโยตร์ ชูรอฟสกี นักแต่งเพลงชาวรัสเซีย ที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2431 และถูกรวบรวมอยู่ในหนังสือ “รวมเพลงชาติต่างๆ ทั่วโลก” ที่นายชูรอฟสกีจัดพิมพ์ขึ้นในราวปี 2434 โดยหนังสือเล่มนี้ได้รับการรับรองจากกองทัพรัสเซียว่าสามารถใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานได้ น่าสนใจว่าเพลงชาติต่างๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ส่วนมากแล้วแต่งโดยนักแต่งเพลงในรุ่นก่อน และมีอยู่เพลงเดียวเท่านั้น ที่ระบุชื่อผู้แต่งว่าเป็นนายชูรอฟสกีเอง คือเพลงประจำชาติสยาม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบันนั่นเอง นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องน่าสังเกตว่า ความจริงแล้ว สยามนับเป็นเพียงประเทศเล็กๆ และไม่ได้อยู่ในลำดับชั้นสำคัญเทียบเท่าชาติอื่นๆ ในยุโรปเท่าใด แต่ปรากฏว่า นายชูรอฟสกี กลับจงใจวางสัญลักษณ์ของประเทศสยามลงบนกลางปกหนังสือเล่มนี้อย่างพอดิบพอดี ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีข้อสันนิษฐานว่า ที่นายชูรอฟสกีให้ความสำคัญกับสยามมากถึงเพียงนี้ ก็คงจะเนื่องด้วยตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งเพลงประจำชาติสยามนั่นเอง ผมเคยเล่าแล้วในครั้งก่อนๆ ว่าการที่นายชูรอฟสกีสามารถติดต่อกับสถานทูตสยาม ณ กรุงปารีส อาจเป็นเหตุให้เขาได้รับรู้โน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงแรก ที่มีต้นเค้าจากเพลงแตรฝรั่งและทำการบันทึกโดยครูยู่เซ็นใน พ.ศ. 2413 ซึ่งนายชูรอฟสกีนำมาพัฒนาเป็นทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบัน แต่ความจริงอีกประการที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในเวลานั้น ณ กรุงปารีส มีการตีพิมพ์หลักฐานบันทึกเพลงที่เกี่ยวข้องกับสยามอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้นฉบับเป็นของเก่าถึงในราว พ.ศ. 2230 คือเป็นเวลาเกือบสองร้อยปีก่อนหน้าเลยทีเดียว หลักฐานเหล่านั้นประกอบด้วย 1) หลักฐานบันทึกของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาสยามในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีการจดบันทึกโน้ตเพลงสยาม ชื่อว่า A Siamese Song มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า Say Samon เนื้อเพลงเริ่มต้นของเพลงนี้ตรงกับชื่อเพลงมโหรีสมัยอยุธยา “สายสมร” ที่สูญหายไปนานแล้ว และปรากฏหลักฐานอยู่เพียงชื่อเพลงเท่านั้น ดังนั้น นักปราชญ์หลายท่านจึงเชื่อว่าโน้ตเพลงฉบับนี้น่าจะบันทึกมาจากเพลงมโหรีเพลงนั้นจริง แต่ในทางดนตรีแล้ว เราพบว่าการจดบันทึกโน้ตเพลงนี้ค่อนข้างเป็นไปอย่างหยาบๆ มีข้อผิดพลาดทางดนตรีหลายแห่ง และยังเป็นเรื่องยากมาก ที่จะร้องทำนองให้ได้ลงกับคำร้องที่จดบันทึกไว้ ความผิดพลาดในการบันทึกโน้ตบางแห่งนั้นอาจเกิดจากความสะเพร่า เช่นในห้องที่ 6 นั้นดูเหมือนว่าผู้บันทึกลืมเขียนเส้นกั้นห้องในระหว่างกลางไปเลย ส่วนในห้องที่ 8 และ 10 นั้นก็บันทึกค่าของตัวโน้ตเกินขนาดของมาตราไปอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งอาจจะเกิดจากการบันทึกโน้ตประเภทโน้ตแทรก อย่างไม่ชัดเจนก็เป็นได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าโน้ตเพลงฉบับนี้จะเกิดจากการจดบันทึกการบรรเลงเพลงสายสมรไว้จริงๆ ก็ตาม แต่ก็คงเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดในการบันทึกที่เกิดจาก 1) ผู้บันทึกไม่เข้าใจบุคลิกลักษณะของดนตรีสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของจังหวะ และ 2) การพยายามจดบันทึกอย่างรวดเร็วจากการฟังทำให้สิ่งที่บันทึกนั้นคลาดเคลื่อนออกไป โดยเห็นได้จากความผิดพลาดในการบันทึกโน้ต ผมจึงเคยสรุปไว้ว่า โน้ตเพลงสายสมรที่ปรากฏในบันทึกของลา ลูแบร์ มีแนวโน้มว่าอาจเป็นเพียงโน้ตเพลงที่วิ่นแหว่ง โดยมีทำนองเพลงจริงๆ ได้รับการจดบันทึกไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น (ในกรณีที่เพลงๆ นี้คือเพลงสายสมรจริงๆ) 2) เพลง “สุดใจ” หรือ Sout-Chai ที่ตีพิมพ์ในบันทึกของนิโคลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามายังสยามก่อนหน้า ลา ลูแบร์ ในช่วง พ.ศ. 2224-2229 เป็นโน้ตเพลงที่เห็นได้ชัดว่าเขียนขึ้นสำหรับเปียโน มีบุคลิกเป็นดนตรีตะวันตกแบบ exotic ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนั้น และไม่เห็นร่องรอยว่าเกี่ยวเนื่องกับเพลงสยามแต่อย่างใด 3) และ 4) คือเพลง Entree des Siamois และ Air des Siamois No. 2 ที่นักแต่งเพลงแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คือนายมิเชล-ริชาร์ด เดอ ลาลองด์ แต่งขึ้นในโอกาสพิเศษ เพื่อต้อนรับราชทูตสยาม คือออกญาวิสุทธสุนทรหรือโกษาปาน ที่มาถึงปารีสใน พ.ศ. 2229 ซึ่งก็มีบุคลิกไม่ต่างไปจากเพลงสุดใจนัก คือเป็นเพลงดนตรีตะวันตก ที่เขียนขึ้นในสไตล์ exotic เพื่อแสดงภาพแทนของดินแดนอันห่างไกลอย่างสยาม แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่นายชูรอฟสกีอาจเคยเห็นโน้ตเพลงเหล่านี้ในปารีสด้วย และอาจได้แนวคิดหรือจับบุคลิกบางอย่างจากเพลงเหล่านี้ไปจินตนาการใหม่ เกิดเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็เป็นได้ และที่จริง ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ก็เปิดกว้างจนกระทั่งอาจเป็นว่า นายชูรอฟสกีอาจไม่ได้ใช้วัตถุดิบใดๆ จากเพลงเหล่านี้ในการแต่งเพลงสรรเสริญฯ เลยก็เป็นไปได้เช่นกัน