กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ แม้เผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิ เหตุแผ่นดินไหว และมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐอเมริกา โดยพบว่าอัตราความผันผวนแฝง (Implied Volatility) เริ่มลดลง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินหลักทั่วโลก ในระยะสั้น SCB FM มองว่ามาตรการ Tariffs ของสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยต้องจับตาการประกาศอัตราภาษีอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวันที่ 2 เมษายนนี้ หากมาตรการออกมาตามคาด ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD/THB) ที่ระดับประมาณ 34.20–34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ผู้นำเข้าอาจทยอยซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าบางส่วนเพื่อบริหารความเสี่ยง

นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน และหัวหน้าฝ่ายบริหารลูกค้าสัมพันธ์ Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เงินบาทในช่วงเดือนที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50–34.00 บาทต่อดอลลาร์ แม้ได้รับแรงกดดันจากเหตุแผ่นดินไหวที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เงินบาทสามารถฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าได้ภายหลัง และยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเดิม

ขณะเดียวกัน มาตรการภาษีล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในอัตรา 25% ส่งผลกระทบจำกัดต่อตลาดค่าเงิน โดยดัชนีเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก เนื่องจากสัญญาณจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่าการขึ้นภาษีในรอบนี้อาจไม่รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวล ความผันผวนที่ลดลงยังเกิดขึ้นกับสกุลเงินหลักอื่น เช่น ยูโร เยน และดอลลาร์แคนาดา เนื่องจากตลาดกำลังรอความชัดเจนจากนโยบาย Tariffs ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจด้านการเงิน ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขาย USD/THB ลดลง และยังไม่เห็นสัญญาณการทะลุแนวต้านหรือแนวรับสำคัญ

ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้ส่งออกบางส่วนเริ่มทยอยขายดอลลาร์ ซึ่งช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท โดยรายได้จากการส่งออกสินค้าเร่งด่วนก่อนการประกาศภาษีในเดือนเมษายนมีส่วนสำคัญ ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงพร้อมดูแลค่าเงินบาทหากเกิดภาวะผันผวนรุนแรงในตลาด

สำหรับมุมมองระยะกลางถึงยาว นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ตามทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากสหรัฐฯ จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (Recession Risk) และดัชนีดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง โดยข้อมูลล่าสุดชี้ว่า Dollar Position กลับมาอยู่ในสถานะ Short Position ขณะที่เงินยูโรแข็งค่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี กระแสเงินทุนเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่ยุโรปและบางส่วนในเอเชีย เช่น จีน ผ่านกองทุน ETF ที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Unhedged) ซึ่งยิ่งสนับสนุนการแข็งค่าของเงินสกุลต่างประเทศ

SCB FM คาดการณ์กรอบค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2568 อยู่ที่ 32.50–33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมินว่ามาตรการ Tariffs ที่ออกมานั้นอาจไม่เพียงพอในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างซัพพลายเชนในระยะสั้น ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายทั้งจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย จะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนทิศทางเงินทุนไหลเข้าและค่าเงินบาทในระยะถัดไป

ด้านตลาดพันธบัตร SCB FM คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับลดลงตามการคาดการณ์ลดดอกเบี้ยของ กนง. ในเดือนมิถุนายนและตุลาคม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะอ่อนตัวต่อเนื่อง จากการลดดอกเบี้ยของ Fed การจำกัดปริมาณออกพันธบัตร และความต้องการพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเกณฑ์ในภาคธนาคารพาณิชย์

#SCBFM #ค่าเงินบาท #ข่าววันนี้ #ภาษี #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ไทยพาณิชย์