วันที่ 2 เม.ย.68 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ถึงสถานการณ์ล่าสุดจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ภาพรวมของกทม.ส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีเพียงจุดเดียวที่จตุจักร ยังคงต้องเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตควบคู่กับการรื้อถอนไปด้วย ขณะเดียวกันอาคารส่วนใหญ่ในกทม. ได้รับการตรวจสอบแล้ว ส่วนใหญ่สามารถใช้งานได้ปกติ แต่ยังมี 2 อาคารบางส่วนที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้อาคาร และยังมีอาคารที่กรมโยธาธิการและผังเมืองไปตรวจสอบ ยังไม่ให้เข้าใช้อาคารอีก จำนวน 3 อาคาร ส่วนการค้นหาผู้รอดชีวิตภายในอาคาร สตง.ที่ถล่มนั้น แม้จะเลย 72 ชั่วโมงมาแล้ว การกู้ชีพค้นหาผู้รอดชีวิตยังต้องทำอยู่ แต่มีการปรับยุทธวิถีด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ารื้อถอนมากขึ้น ขณะนี้สามารถขยับคอนกรีตได้มากกว่า 100 ตันแล้ว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ได้เจาะช่องอุโมงค์ไว้หลายจุดแล้ว เพื่อจะเร่งหาผู้รอดชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยวันนี้ เวลา 18.00 น. จะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อนำเครื่องจักรใหญ่เข้าพื้นที่เพิ่มขึ้น และรื้ออาคารด้านบนให้มากขึ้น แต่ต้องดูว่ามีผู้รอดชีวิตอยู่หรือไม่ ถ้ารื้ออาคารด้านบน ทีมกู้ชีพค้นหาผู้รอดชีวิตต้องหยุดปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าระหว่างรื้อ พบสัญญาณชีพ ทีมกู้ชีพจะเข้าพื้นที่ทันทีอจากการสำรวจของทีมกู้ภัยยืนยันแล้วว่า พบร่าง 10 กว่าศพ ที่ยังติดค้างในอาคาร แต่ยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ ถือว่าการทำงานของทีมกู้ชีพที่ผ่านมามาถูกทางแล้ว
นายชัชชาติ กล่าวย้ำว่า การช่วยชีวิตและการรื้อถอนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ช่วงแรกเป็นการช่วยชีวิตอย่างเดียว จากนั้นผ่านไป 2 วัน จะเป็นการเริ่มรื้อถอน ทั้งสองอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ แต่จะเป็นการปรับยุทธวิถี เพิ่มเครื่องจักรหนักเข้าไป อาจจะกระทบผู้อยู่ในอาคารบ้าง แต่การค้นหาผู้รอดชีวิตยังต้องทำต่อไป จะไม่มีจุดแบ่งที่ระบุว่าหยุดค้นหาชีวิตแล้วรื้อถอน จะเป็นการทำไปด้วยกัน จากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่ทำงานมา 40 ปี ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้หนักที่สุด เพราะเป็นอาคารคอนกรีตสูง 30 ชั้น ถล่มลงมาพร้อมกัน
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ว่า หากเป็นห้องที่อยู่ในอาคารที่กทม.ห้ามใช้อาคาร ซึ่งถือเป็นความเสียหายทั้งหมดจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 49,500 บาท ส่วนห้องที่เสียหายบางส่วนจะต้องมีการประเมินก่อนโดยวิศวกร และสำนักงานเขตรับรองว่าจะต้องเบิกจ่ายเท่าไรในอัตราไม่เกิน 49,500 บาท
ส่วนผู้ป่วยใน (IPD) จะเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนผู้ป่วยนอก (OPD) จะมีค่าใช้จ่ายที่เบิกให้ในแต่ละราย พร้อมทั้งค่าปลอบขวัญ ขณะเดียวกันถ้าอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวให้เก็บหลักฐานเป็นรูปถ่ายและนำไปแจ้งได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
ทั้งนี้ประชาชนที่ที่พักอาศัยหรืออาคารได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวสามารถถ่ายภาพความเสียหายนำมาประกอบการแจ้งความ โดยสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร บริเวณอาคาร สตง.ถล่ม หรือที่สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ก่อนนำเอกสารไปยื่นคำร้องขอการเยียวยาอีกครั้ง
ด้าน ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รายงานสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว รวม 12 สถานที่ ณ เวลา 08.00 น. ของวันที่ 2 เม.ย. 68 รวมผู้บาดเจ็บ 34 ราย นอนโรงพยาบาล 11 ราย และกลับบ้าน 23 ราย และ เสียชีวิต 22 ราย ซึ่งสถานที่พบผู้บาดเจ็บมากที่สุด คือ 1.อาคาร สตง. 19 ราย เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 14 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย 2. อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ บาดเจ็บ 3 ราย 3. แยกบางโพ เขตบางซื่อ บาดเจ็บ 4 ราย และเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย 4. อาคารทิปโก้ บาดเจ็บ 2 ราย 5. เครนดินแดง บาดเจ็บ 4 ราย
6. ตึกไซมิส รามอินทรา 64 เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย 7. คอนโดเดอะเบส พระราม 9 บาดเจ็บ 1 ราย และเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย 8. อาคารเมโทรโพลิส สุขุมวิท 39 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย 9. คอนโดวิทยุ คอมเพล็กซ์ เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย 10. คอนโดไลฟ์วัน เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย 11. ไซต์งานก่อสร้างพระราม 9 เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย 12. ทางด่วนบูรพาวิถี บาดเจ็บ 1 ราย หมายเหตุ ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลือ