ไทยรับมือ “ทรัมป์ 2.0” เปิดทางนำเข้าสินค้าเกษตร-อาหารจากสหรัฐฯ ลดแรงกดดันภาษีนำเข้า
วันที่ 2 เมษายน 2568 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดการแถลงข่าวเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในประเทศต่อการกำหนดแนวทางเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ผ่านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในมิติต่างๆ
นายวุฒิไกร กล่าวว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการทางภาษีต่อประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และกระตุ้นการลงทุนในประเทศ รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และได้เตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาขึ้นทันที เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยคณะทำงานฯ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์) และที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายศุภวุฒิ สายเชื้อ) ทำหน้าที่ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้หารือกันอย่างใกล้ชิดพร้อมหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และหาแนวทางเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวางแผนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ผ่านมาตรการทางการเงิน อาทิ การให้เงินชดเชยดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนหมุนเวียน
ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์พบว่า หลายประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอการเจรจา รวมมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ยังมิได้ให้การตอบรับ และทุกประเทศทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เข้ารัฐเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการขาดดุลการค้าที่มีสูงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
นายวุฒิไกรยืนยันว่า คณะทำงานฯ มีความพร้อมในการหารือกับสหรัฐฯ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศ มุ่งเน้นแนวทางที่สมดุลและเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเกษตรกรไทยตลอดจนรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น คาดว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากการประกาศ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะทำงานฯ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนและภาคธุรกิจว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มของสหรัฐฯ บนพื้นฐานการรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และปกป้องรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างดีที่สุด
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่า หอการค้าไทยขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญหอการค้าฯ มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ กับทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดอาเซียนรวมถึงไทย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทยและผู้ประกอบการไทยในทุกระดับต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
โดยที่ผ่านมา หอการค้าฯได้มีการร่วมหารือแนวทางรับมือร่วมกำหนดจุดยืนของไทย รวมทั้งให้ข้อมูลและทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและเอกชนของทั้งไทยและสหรัฐฯ อาทิ ทีมประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ดร.พันศักดิ์ วิญญรัตน์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ท่านพิชัย นริพทะพันธุ์) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (คุณวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์) กระทรวงการต่างประเทศ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM Thailand) หอการค้าสหรัฐฯ (The U.S. Chamber of Commerce) เป็นต้น
ทั้งนี้ปัจจุบันไทยและทั่วโลกยังคงจำเป็นต้องเฝ้าจับตาการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff Policy) ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้
ซึ่งมุ่งเน้นไปยังกลุ่ม 15 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าด้วยเป็นหลัก ซึ่งหอการค้าฯ ยังมีความเป็นห่วงต่อภาพรวมและตัวเลขการค้าของไทยซึ่งได้ดุลการค้าจากสหรัฐสูง ไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกขึ้นภาษี เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลำดับที่ 11 เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยไทยเองควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐฯ ให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและสมดุล (Fair and Balance Position) ในการเจรจากับสหรัฐฯ
สำหรับหนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและอาหารพบว่าไทยเกินดุลสหรัฐฯ เพียง 142,634 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเกษตรอาหารอันดับที่ 11 ของโลกและไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้มากขึ้นได้คือการนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม
โดยหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่างๆ ที่จะไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรภายในประเทศของไทย
1) พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวของไทย จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (โค สุกร ไก่) ไทยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ดีและถูกลง ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกเนื้อสัตว์ไปต่างประเทศดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยผู้บริโภคในประเทศในประเภทเนื้อสัตว์ด้วย
2) สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ
3) สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (Whisky & Wine)
4) เครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก
ทั้งนี้หอการค้าฯ มองว่านโยบายภาษีของสหรัฐฯ (Trump Tariff) จะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจุบันประเทศจีน เกาหลีและญี่ปุ่นได้มีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคกันแล้ว อีกทั้งสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับแคนาดาในการเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทางหอการค้าฯ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลของไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA ไทย-ยุโรป FTA อาเซียน-แคนาดา รวมถึงการปรับปรุง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้ให้ได้ ซึ่งจะทำให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า1 % รวมทั้งการส่งออกจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 10 % ซึ่งจะลดผลกระทบจากนโยบาย Trump Tariff
นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หอการค้าไทย หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM Thailand) และ
U.S. Chamber of Commerce ก็จะมีกำหนดการจัดงาน “Thailand – U.S. Trade and Investment Summit 2025” ในวันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2568 นี้ ณ โรงแรม
ไฮแอท รีเจ็นซี กรุงเทพฯ เพื่อเสริมความสัมพันธ์อันดีและศักยภาพเศรษฐกิจระหว่างกัน รวมถึง ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ก็ยังมีกำหนดจัดคณะผู้แทนหอการค้าไทย พร้อมกับนักธุรกิจ เดินทางเยือนสหรัฐฯ และ
เข้าร่วมงาน Select USA 2025 ระหว่างวันที่ 11 – 14 พฤษภาคม 2568 ณ มลรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เพื่อแสวงหาแนวทางและโอกาสในการลงทุนร่วมกันระหว่างสองประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางรับมือและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อไป