สำนักงานปลัดกระทรวง อว.ลงพื้นที่ มทร.ล้านนา ติดตามโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เผยมีการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดจนเกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อนำไปใช้เชิงพาณิชย์ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรของชุมชน ชื่นชมมีการปรับปรุงหลักสูตร upskill/reskill เพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการด้านอาหาร - หัตถศิลป์ – ภูมิปัญญาล้านนา ที่ตอบโจทย์เส้นทางอาชีพและการประกอบอาชีพ
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.68 ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนา อววน. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมด้วย ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และ รศ.ศักดิ์เกษม ระมิงค์วงศ์ ผศ.ไชยยันต์ ชนะพรมมา คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคนขั้นสูง (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ 2567 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา จ.เชียงใหม่ โดยมี รศ.อนนท์ นำอิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ และผู้บริหารของ มทร.ล้านนา ให้การต้อนรับ
รศ.อนนท์ กล่าวว่า มทร.ล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มีการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย น่าน ตาก และพิษณุโลก และมีเป้าหมายสร้างความเป็นเลิศในการบูรณาการศาสตร์ทางด้าน Lanna Agriculture, Biotechnology และ Engineering และสร้างความเป็นเลิศด้าน Creative Lanna สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนและส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้ประกอบการมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs) โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง มีคุณภาพเพื่อเป็นรากฐานสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐกิจชุมชน โดยมีกลยุทธ์สำคัญในการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือก่อตั้งบริษัทใหม่ (startup company)
ด้าน ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 มทร.ล้านนา ได้รับสนับสนุนงบประมาณเพื่อยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (TTO/TLO) และพัฒนาหลักสูตรแบบ Entrepreneurship Education เพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จะเห็นได้ว่า มทร.ล้านนา ได้ปรับปรุงและจัดทำประกาศ ระเบียบ แนวปฏิบัติ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร และระบบนิเวศให้เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการเทคโนโลยี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ มทร.ล้านนาให้สามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นผู้ประกอบการ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรของชุมชนจากองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกด้วย
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า มทร.ล้านนายังได้เตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรและนักศึกษาโดยปรับปรุงหลักสูตรเพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการด้านอาหารล้านนา งานหัตถศิลป์ล้านนา และเมล็ดพันธุ์พืชล้านนาจากฐานทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาล้านนา โดยปรับรายวิชาชีพเลือกและวิชาเลือกเสรีของหลักสูตรให้ตรงกับสมรรถนะของอาชีพ โดยใช้ project based และพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อ upskill/reskill ที่สามารถตอบโจทย์เส้นทางอาชีพและการประกอบอาชีพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบให้รองรับการบริหารจัดการหลักสูตรระยะสั้น และระบบธนาคารหน่วยกิตสำหรับเก็บสะสมผลการศึกษาของผู้เรียนด้วย รวมถึงได้มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนในการพัฒนาผู้สอนที่น่าชื่นชม อาทิ การสร้างแบบจำลองจากกระบวนการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้ในวิชาภาษาอังกฤษในหลักสูตรธุรกิจอาหารและโภชนาการ และการสร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านความเป็นผู้ประกอบการให้แก่คณาจารย์ ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา (Entrepreneurship Competence Framework: EntreComp)
“ผมและคณะกรรมการฯ เห็นว่า จากการดำเนินการโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือโครงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา (Reinventing University) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 มทร.ล้านนามีการพัฒนาและพลิกโฉมมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปฏิรูประบบบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย การพัฒนาศักยภาพด้านความเป็นผู้ประกอบการให้แก่บุคลากร และนักศึกษา อีกทั้ง ยังได้จัดทำแผนและเป้าหมายการดำเนินงานในระยะต่อไปที่มุ่งพัฒนาระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรเชื่อมโยงและบูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้กรอบการพัฒนาระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ควรต่อยอดการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะการพัฒนาธุรกิจใหม่และความเป็นผู้ประกอบการให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และส่งเสริมการร่วมลงทุนต่อยอดการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว