วันที่ 2 เม.ย.68 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในรายการ กรรมกรข่าว คุยนอกจอ ถึงกรณียื่นของบประมาณสภากรุงเทพมหานคร เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนอาคารสูง เมื่อปี 2567 ว่า ที่ผ่านมา กทม. เคยเสนอของบประมาณสภากรุงเทพมหานคร เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนตึกอาคาร เพื่อให้ทราบความรุนแรงของแผ่นดินไหว และผลกระทบที่จะเกิดกับตึกอาคาร ที่ผ่านมามีการติดตั้งบนอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง ได้ข้อมูลอัตราการเร่ง และการแกว่ง ซึ่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการวิจัย รวมถึงเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับแก้กฎหมายควบคุมอาคารในอนาคตได้ จึงเสนอสภากทม. เพื่อติดตั้งเครื่องดังกล่าวโดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อจะได้รู้ว่าต้องอพยพคนออกหรือไม่ เพราะโรงพยาบาลอพยพคนออกค่อนข้างยาก โดยเสนอของบฯจำนวน 9,000,000 บาท เมื่อปี 2567 แต่สภากทม.ไม่อนุมัติงบประมาณส่วนนี้ เข้าใจว่าเหตุผลคือ กรุงเทพฯ ไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ซึ่งที่ผ่านมา กทม.เคารพการตัดสินใจของสภา กทม. อย่างไรก็ตาม มีแผนของบประมาณส่วนนี้อีกครั้งในปีนี้หรือปีหน้าต่อไป เชื่อว่าจะมีการให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น

ส่วนประเด็นของบประมาณจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร แต่ถูกสภา กทม.ตัดงบฯ ไปนั้น เนื่องจาก กรุงเทพมหานครมีอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่สำนักการโยธาไม่ค่อยมีผู้ควบคุมงานฯ เพราะหน้าที่หลักไม่ใช่การควบคุมงานก่อสร้าง แต่มีงานออกแบบและงานอื่น ๆ ดังนั้นงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เป็นงานสำคัญจึงอยากจะจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน เหมือนกับอาคารใหญ่ทั่วไป เพื่อสร้างความมั่น เจ้าหน้าที่เราจะได้ไม่ต้องรับภาระมาก ยกตัวอย่าง การคุมงานก่อสร้าง เช่น ควบคุมเหล็ก คอนกรีตที่ใช้ก่อสร้างว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมถึงกระบวนการก่อสร้างและระยะเวลาเป็นไปตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งผู้ควบคุมงานจะเป็นผู้เร่งรัดการก่อสร้างได้ ทำให้ไม่ล่าช้า

ปัจจุบันกทม. มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะสถานพยาบาล แต่สำนักงานการโยธามีผู้ควบคุมงานไม่เพียงพอ การจ้างเด็กจบใหม่มาอาจมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ หรือการเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ เมื่อตึกอาคารก่อสร้างเสร็จแล้วก็อาจจะไม่มีหน้าที่ให้ทำต่อไป กลายเป็นภาระภาษีในอนาคต เพราะการคุมงานก่อสร้างเป็นงานชั่วคราว ตามหลักจึงควรเป็นหน่วยงานภายนอกดำเนินการ ไม่ใช่หน่วยงานภายใน เพราะไม่ได้สร้างอาคารทุกวัน หน้าที่หลักคือตรวจสอบอาคารมากกว่า

"การของบส่วนนี้ไม่ผ่านผมเครียดเหมือนกันนะ เพราะกังวลเรื่องคุณภาพ แต่อาจจะพูดให้เป็นธรรม ถึงแม้มีคนคุมงาน ก็อาจจะไม่ได้แก้ปัญหา อย่างตึก สตง.ก็มีคนคุมงาน แต่คิดว่าตึกหลายตึกที่ไม่มีปัญหาก็มาจากคนคุมงาน บางคนบอกว่าตึก สตง.มีคนคุมงานทำไมยังพัง แต่เชื่อว่ายังมีตึกอีกเป็นพันเป็นหมื่นตึกที่มีคนคุมงานแล้วได้คุณภาพที่ดี, ไม่เป็นไรครับเดี๋ยวของบใหม่" นายชัชชาติ กล่าว