“ทวี”ลุยตรวจบริษัทต่างชาติสร้าง “ตึก สตง.”ปมฮั้วประมูล-ไชน่า เรลเวย์ฯส่อใช้นอมีนี งบดุลขาดทุนตลอด ให้กรรมการกู้ 2 พันล้าน ประมูลงานต่ำกว่าราคากลางเพียง 1% และใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ด้าน “นายกฯ”ลั่นถ้าไม่หาต้นเหตุ‘ “ตึกถล่ม”ให้ได้ ประเทศไทยจะอยู่ยาก สั่งการ “8 กระทรวง” เร่งแก้ไขปัญหาทุกมิติ “รมว.อุตสาหกรรม”ย้ำ“เหล็กก่อสร้าง”ไม่ได้มาตรฐาน ลั่นรับผิดชอบเอง หลังมีคนวิ่งเต้น-ข่มขู่จนท.ปมตรวจเหล็ก “ตึกสตง.” ยันไม่ยอมให้ "ธุรกิจศูนย์เหรียญ" หาประโยชน์ในประเทศ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เป็นเหตุทำให้โครงการก่อสร้างอาคาร ที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างถล่มเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและมีผู้บาดเจ็บ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 เม.ย.68 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหวว่า เรื่องการเยียวยาจะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติที่มีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้น กรณีดังกล่าวหากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ประมาททำให้เสียชีวิต ถือเป็นฐานความผิดทางอาญา ก็จะไปเข้าข้อกฎหมาย แต่ในการช่วยเหลือเยียวยาของเหตุภัยพิบัติ มีหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานที่ดูแลโดยตรงอย่างกระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ในส่วนของรัฐบาลมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เหมือนโศกนาฏกรรม ต้องดูแลช่วยเหลือเต็มที่ ดังนั้น การเยียวยาทางด้านจิตใจและที่เป็นตัวเงินจะต้องมี ซึ่งในการเยียวยาเหตุภัยพิบัติสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอให้คดีสิ้นสุด นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สำหรับของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะเข้าไปดูแลเรื่องหนี้สินครัวเรือน นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่จิตวิทยาเข้าไปดูเกี่ยวกับสภาพจิตใจ แต่ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม มีอยู่ 3 ประเด็นที่จะเข้าข่ายความผิด 1.การประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว ที่ใช้นอมินี เท่าที่ดูจากงบการเงินที่เผยแพร่กันอยู่ของบริษัทดังกล่าว ขาดทุนมาตลอด และไม่มีการเสียภาษี อีกทั้งมีการนำเงินของบริษัทไปให้กรรมการกู้จำนวน 2 พันล้านบาท แม้อำนาจที่แท้จริงจะให้ต่างชาติ 49% ไทย 51% แต่หากมองในลักษณะมีอำนาจครอบงำ จะเห็นในเรื่องของการบริหาร ดังนั้น จึงต้องเข้าไปดู ประกอบกับการตรวจสอบสถานที่เดียวกัน กลุ่มคนเดียวกัน มีบริษัทในลักษณะนี้ 10 บริษัท

“ต้องดูว่ามีการกระทำใดที่เป็นความผิดในพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว และเข้าข่ายที่จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปดำเนินการหรือไม่ และประเด็นที่ 2. หากสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวน และ3.การจัดซื้อจัดจ้าง ที่เรียกว่าฮั้วประมูล หากเกินกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป ดีเอสไอมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เพราะเบื้องต้นเห็นว่าต่ำกว่าราคากลางเพียง 1% เท่านั้น ปกติการประมูลที่ไม่มีการแข่งขัน ควรต่ำกว่า 10-15%” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10  มีบริษัทเครือข่ายเดียวกันกว่า 24 บริษัท พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า  ทราบจากการรายงานของอธิบดีดีเอสไอ จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การตรวจสอบว่า เพราะเหตุใดถึงเกิดเหตุแค่ตึกเดียว จะดูว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งมีข้อมูลทางทะเบียนไปตรวจสอบ เรื่องการเสียภาษี ที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร รวมถึงการตรวจสอบในเชิงลึก คือ การนำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาซักถาม ก็จะได้ข้อมูล โดยได้กำชับให้ดีเอสไอเร่งดำเนินการ

เมื่อถามว่า จะพุ่งเป้าไปที่บริษัท ไชน่าเรลเวย์  นัมเบอร์ 10 ก่อนใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์  ปัจจุบันต้องยอมรับ ว่า เศรษฐกิจของไทย เหมือนจีดีพีจะโต แต่คนไทยไม่ได้ประโยชน์ จึงจะไปดูว่าหากเราบังคับใช้กฎหมายธุรกิจของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมาย เงินที่จะไปสู่คนต่างด้าวเพียงอย่างเดียว ต้องกลับมาหาคนไทย 51% ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเคสนี้ แต่จะดูธุรกิจทั้งหมด ที่คนต่างด้าวดำเนินการ โดยให้สำนักความมั่นคงของดีเอสไอ ไปดูเรื่องนอมินีทั้งหมด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในการประชุม ดังนี้  เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบทำให้สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยขอสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน และระดมทุกสรรพกำลัง จากทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว  และรัฐบาลขอขอบคุณจากใจในทุกภาคส่วนถึงความเสียสละของทุก ๆ ท่านที่ร่วมมือกันจนสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว  

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกัน การเตรียมรับมือและมีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือ อุบัติภัย ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ทุกประเภท ทั้ง อุทกภัย สึนามิ ไฟป่า รวมถึงแผ่นดินไหว โดยขอสั่งการดังต่อไปนี้

1. ให้กระทรวงมหาดไทย  ให้ดำเนินการจัดทำแผน และมาตรการในการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆโดยมีการแบ่งหน้าที่ และขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจน (Flowchart) เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาเสนอภายในสิ้นเดือนนี้  และ "ขอให้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  (ปภ.) หามาตรการในการประสานงานกับทางกระทรวง DE กรมอุตุนิยมวิทยา และ กสทช. ในการส่งข้อความเตือนภัย ที่ชัดเจน และรวดเร็วมากขึ้นให้มีการใช้ระบบ Virtual cell broadcast กับอุปกรณ์โทรศัพท์ทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ ระหว่างการรอระบบ Cell broadcast ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ระบบสื่อสารเตือนภัยมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเตือนภัยแก่สาธารณชนในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้ อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นต้น แม้กระทั่งการรุกรานจาก cyber crime โดยให้ศึกษาในประเทศต่าง ๆ ที่มีบทเรียนที่ดีในเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ   และให้ทางกรมโยธาธิการฯ เร่งออกมาตรการ ข้อกำหนดในการตรวจสอบอาคารสูงทุกอาคาร เพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยร่วมมือกับทาง กทม. และสมาคมที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ และ ควรจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและออกใบรับรองมาตรฐานอาคาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนและนักท่องเที่ยว

2. กระทรวงการต่างประเทศ เร่งปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ที่มีความพร้อมในระบบเตือนภัย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป นิวซีแลนด์  และ อิสราเอล โดยประสานผ่านสถานทูต เพื่อเชิญมาประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยให้เร็วที่สุด 3. กระทรวงสาธารณสุข วางแผนในการเตรียมการรับมือทั้งแพทย์ฉุกเฉิน เตียงสนามให้เพียงพอ รวมถึงจิตแพทย์ที่จะดูแลฟื้นฟูผู้ที่รับผลกระทบ 4. กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สั่งการให้ เร่งสื่อสารกับนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ให้ได้รับข้อความเตือนภัย และแผนรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน 5. ให้กระทรวงทรัพยากรฯ ระดมนักวิชาการทางด้านธรณีวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะในมาตรการรับมือที่ถูกต้อง และป้องกันภัยได้อย่างรัดกุมที่สุด รวมถึงการตรวจระบบอุปกรณ์เตือนภัยต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่ ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติ เช่น ระบบเตือนภัยสึนามิ ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากยิ่งขึ้น

6. ให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งเพิ่มเติมหลักสูตร และแผนการรับมือภัยธรรมชาติ ในทุกรูปแบบให้กับนักเรียน นักศึกษาทุกระดับ 7. ให้กระทรวงคมนาคม เร่งตรวจสอบเส้นทางคมนาคม ทุกมิติให้มีความพร้อมในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงตรวจสอบงานก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ได้มาตรฐาน สามารถรองรับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้ 8. ให้สำนักนายกรัฐมนตรี - ร่วมมือกับ ปภ. เร่งสรุปมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็ว ตามที่กฎหมายกำหนด  และ ให้กรมประชาสัมพันธ์ - เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารที่ถูกต้อง อย่างทั่วถึงรวมทั้งกระจายไปยังช่องทางต่างๆให้ครบถ้วนทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์  และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook หรือ LINE รวมทั้งให้ประสานขอความร่วมมือกับ เอกชน ที่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่สามารถขึ้นภาพได้ทันที เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง

นายจิรายุ กล่าวต่ออีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะกรรมการสืบหาต้นเหตุของตึกก่อสร้าง สตง.ถล่มในครั้งนี้ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานให้เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงภายใน 7วัน หากมีความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

“อาคารก่อสร้างถล่มครั้งนี้ ต้องหาสาเหตุ และ หาผู้รับผิดชอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ยาก ต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป”นายกรัฐมนตรีกล่าว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้สอบถามในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รายงาน ต่อ ครม.ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อติดตามตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่พบว่ามี นอมินี มากถึง 17 บริษัท

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวรับงานส่วนราชการไปทั้งหมด 11 งาน 10  งานอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนงานที่แล้วเสร็จเป็นอาคารเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเข้าดำเนินการตรวจสอบต่อไป

ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรมรายงานว่า ผลของการตรวจสอบเหล็กพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานโดยจะส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน เพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป

นายเอกนัฏ กล่าวถึงกรณีนำทีมเข้าไปตรวจวัสดุก่อสร้างในจุดที่เกิดอาคาร สำนักงานตรวจเงินแผ่น (สตง.) ดินถล่ม ซึ่งได้ขออนุญาต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย แล้ว ซึ่งมีทีมกู้ภัยมาช่วยตัดเหล็ก และเก็บตัวอย่างมาได้ 6 ประเภท ทั้งเหล็กกลม และเหล็กข้ออ้อย 3 ยี่ห้อ จากการตรวจสอบเมื่อวานพบว่ามีเหล็ก 2 ขนาด ที่ไม่ได้มาตรฐาน คือเหล็กไซส์ 20 และ 32 มาจากยี่ห้อเดียวกัน

เมื่อถามว่า จะสั่งปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่นั้น นายเอกนัฏ กล่าวว่า เหล็กที่พบมาจากผู้ผลิตที่มาจากกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งหยุดโรงงานไปแล้ว เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขยายผล ตามปกติเมื่อพบว่ามีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องเรียกเก็บของมาให้หมด ให้ผู้ผลิตหยุด และปรับปรุงก่อน ซึ่งในกรณีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้หยุดและปรับปรุงไปแล้ว จึงต้องไปดูว่ามีผลพอที่จะให้เพิกถอนใบอนุญาตได้เลยหรือไม่

เมื่อถามว่าเหล็ก 2 ขนาดที่ไม่ได้มาตรฐาน จะอนุมานว่าเป็นทั้งล็อตที่ใช้ในการก่อสร้างหรือเฉพาะที่สุ่มตรวจตัวอย่าง นายเอกนัฏ กล่าวว่า การเข้าไปสุ่มตรวจจะทำ 2 รอบ โดยรอบแรกพื้นที่เกิดเหตุมีการกู้ภัยอยู่จึงเป็นการสุ่มตัวอย่างเพราะไม่อยากเข้าไปในพื้นที่อาคารที่กำลังมีการกู้ภัย โดยระหว่างเก็บตัวอย่างได้มีการติดกล้องที่เจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันว่าเก็บจากจุดไหนบ้าง แต่ละประเภทมีหลายตัวอย่าง และตอนที่ลำเลียงออกไป รวมถึงการแกะตัวอย่างก่อนตรวจสอบก็มีสื่อมวลชนบันทึกภาพอยู่ ส่วนรอบต่อไปจะเข้าพื้นที่ไปพร้อมกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่นายกรัฐมนตรีตั้งไว้แล้ว โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองพร้อมตำรวจ ซึ่งจะเป็นการเก็บแบบชี้เป้า ซึ่งจะต้องมีแบบ และจะต้องเอา BOQ ของผู้รับเหมาว่ามีเหล็กประเภทไหนบ้าง เก็บให้ครบทุกประเภท หลายตัวอย่าง และเก็บในจุดที่สันนิษฐานว่าเป็นจุดที่ทำให้ตึกถล่ม ซึ่งจะเป็นการเก็บเต็มรูปแบบกว่าครั้งแรก

นายเอกนัฏ ยังยอมรับด้วยว่า ตนก็อึ้งเหมือนกัน เพราะโรงงานที่พบว่าผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานนี้ เป็นโรงงานที่ตนไปตรวจ และสั่งปิดไปตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว แต่การก่อสร้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 สร้างมาแล้ว 5 ปี ซึ่งในการตรวจเหล็กจะตรวจ 2 ส่วน คือคุณสมบัติด้านการกล และคุณสมบัติทางเคมี ซึ่งครั้งแรกที่ไปตรวจตกทางเคมี และล่าสุดที่ตรวจเมื่อวานคือตกทางกล ที่ผ่านมาสั่งให้หยุดและอายัดของกลาง เรียกเก็บสินค้ามา และให้หยุดเพื่อปรับปรุง ซึ่งตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่มีการเปิดตามขั้นตอนทางกฎหมาย

เมื่อสั่งให้หยุดปรับปรุง พอปรับปรุงแล้วก็หนังสือมาเพื่อสั่งเปิดและต้องเอาของมาตรวจอีกที ถ้ายังตกอีกคราวนี้ ก็อาจจะปิดและเพิกถอนใบอนุญาต มอก. ดังนั้นหลักฐานทั้งหมดที่เก็บมาได้ในครั้งนี้ ก็จะดูว่าเพียงพอหรือไม่ ที่จะไม่ให้เปิดอีก เพราะถ้าเปิดอีก ผลิตออกมาก็มีปัญหาอีก เราก็ต้องใช้กฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ เพื่อผลประโยชน์ประชาชน เรื่องนี้ตนต่อสู้มาตลอดไม่ใช่เรื่องเหล็กอย่างเดียวยังมีเรื่องสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย โดยพยายามเรียกเก็บของที่ไม่ได้มาตรฐาน

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้ดำเนินการตรวจและปิดโรงงานเหล็กไปแล้ว 7 โรงงาน อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 3 โรงงาน มูลค่า 400 ล้าน อีกนัยหนึ่งคือมีอุตสาหกรรมธุรกิจศูนย์เหรียญที่มาอยู่ในประเทศแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับไทย เป็นทุนต่างชาติ 100% จ้างงานต่างด้าว 100% ภาษีบางเจ้าไม่ต้องจ่ายและได้รับ BOI ด้วย ซึ่งจากที่ตนทำมา 6 เดือน บางเรื่องมีลักษณะการดำเนินงานเป็นกระบวนการ

และเมื่อวานนี้อยากให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ตนนำทีมไปเก็บหลักฐานเองทั้งหมด เพราะเชื่อว่าหลักฐานบางส่วน มีความสำคัญและมีน้ำหนัก และสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ตนได้ข่าวว่ายังมีความพยายามวิ่งเต้น และข่มขู่เจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ตนเข้าใจ ไม่เป็นไร ถ้าไม่กล้าพูดตนก็จะพูดเอง เกิดอะไรขึ้นตนรับผิดชอบเอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตนคิดว่าเราปล่อยปละละเลยต่อไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า วันพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) จะมีการลงพื้นที่จะมีการลงพื้นที่ตรวจโรงงานใน ต.หนองละลอก จ.ระยอง ที่สั่งปิด หลัง สส. พรรคประชาชน ลงพื้นที่ซึ่งพบว่าโรงงานดังกล่าวยังมีความเคลื่อนไหวพบรถบรรทุกขนฝุ่นแดง ทั้งที่มีการสั่งปิดตั้งแต่ปี 2567 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการลักลอบผลิตเหล็กอยู่หรือไม่ ทั้งนี้หากพื้นที่แล้วตรวจพบและพบว่ามีการลักลอบจะถูกตั้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีเพิ่มอีก