เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายกิตติศักดิ์  ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีนายวิทยา  พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ รฟม.เดินทางมาสำรวจแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีแสด ช่วงโรงพยาบาลเทพรัตน์-สถานีร่วมจอหอ โดยมีนายสุรวุฒิ  เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา และกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำกัด นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ ในฐานะผู้แทนคณะอนุกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) รวมทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้านการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการจราจรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน จากนั้นได้ขึ้นรถบัสอีวี ตระเวนสำรวจเส้นทาง ซึ่งมีผู้ประกอบการขึ้นป้ายไวนิลต้อนรับกันอย่างชื่นมื่น

นายกิตติศักดิ์ รอง ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ข้อสรุปครั้งนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามมติ อจร.นม.นำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการจัดระบบจราจร หรือ คจร. ซึ่งมีมติให้ รฟม.รับเรื่องนำไปศึกษา คณะทำงานลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสายสีแสด เพื่อดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการช่วงปลายปี 68 เพื่อนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่ครม.ช่วงปี 70 หากมีมติเห็นชอบ โคราชก็มีระบบขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

โดยเริ่มต้นที่ รพ.เทพรัตน์ ต.โคกกรวด ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ผ่านโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย สะพานรถไฟโรงแรมสีมาธานี เดอะมอลล์ ทางแยกนครราชสีมา หรือเทอร์มินอล 21 โรงเรียนสุรนารีวิทยา เลี้ยวซ้ายที่ประตูพลแสน ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน สิ้นสุดที่ทางแยกจอหอ ซึ่งทั้งสองข้างทางสามารถจัดระบบเชื่อมต่อขนส่งมวลชนให้บริการได้สะดวกสบาย ช่วงลงพื้นที่สำรวจจะมีการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมเปิดโอกาสแสดงข้อคิดเห็น ตนเชื่อระบบขนส่งมวลชนเกิดขึ้นแน่นอน ไทม์ไลน์ช่วงปี 72 บวกลบ จะสามารถใช้บริการได้

ด้านนายสุรวุฒิ กล่าวว่า ขอขอบคุณ รฟม. และทุกภาคส่วนของโคราช จนเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ โดยคำนึงถึงการใช้สอยประโยชน์ของพี่น้องชาวโคราช วิเคราะห์จากข้อมูลประชากรและความต้องการใช้ขนส่งมวลชนมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่ชาวโคราชส่วนใหญ่ต้องการคือเส้นทางขนส่งมวลชนที่ควรมีการยกระดับไม่รบกวนการจราจรเส้นทางเดิม รวมทั้งคาดหวังให้ต้นทุนไม่สูงมากเกินไปแต่มีความคุ้มค่าได้ประโยชน์สูงสุด เบื้องต้นเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดเบา รองรับมวลชนต่อวันไม่เกิน 20,000 คน

ด้านนายวิทยา รักษาการ รฟม. เปิดเผยว่า ภาพรวมสามารถตอบโจทย์เป็นเส้นทางหลักที่มีประชากรใช้ชีวิตประจำวันอย่างคับคั่ง ขณะนี้ในภูมิภาคมีการเริ่มต้นศึกษาจำนวน 3 สาย ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต และ จ.นครราชสีมา แต่ยังไม่มีการปักหมุดวางเสาเข็มในเส้นทางใด