บูรพา โชติช่วง / รายงาน

แค่ชั่วเพียงกว่าศตวรรษ กรมศิลปากรวันวานเดินทางมาถึงปัจจุบัน 114 ปี

นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2454 เพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ ของชาติ โดยมีหน่วยงานในสังกัดไม่ว่าทางด้านโบราณสถาน โบราณคดี วรรณกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี งานช่างประณีตศิลป์ หอสมุด จดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ มีหน้าที่ภารกิจบำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ จัดการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอด เพื่อธำรงคุณค่าทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยและความมั่นคงของชาติ

มาถึงวันนี้ เนื่องในโอกาส 114 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรม ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมเปิดตัวของที่ระลึกจากต้นทุนทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากแหล่งเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผ่านการศึกษา วิเคราะห์สู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงาม คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจวัฒนธรรม

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ถือเป็นอีกก้าวย่างสำคัญที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านจากการอนุรักษ์ สืบทอด สู่ยุคแห่งการต่อยอดและพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้อย่างเหมาะสม มุ่งเน้นการอนุรักษ์ สืบทอด และนำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยมีการดำเนินภารกิจสำคัญ ดังนี้ พัฒนาโรงละครแห่งชาติ ตามมาตรฐานโรงละครระดับนานาชาติ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีนี้ และได้เตรียมจัดการแสดงเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในการกลับมาของโรงละครแห่งชาติ, เปิดแหล่งเรือจมพนม-สุรินทร์ จ.สมุทรสาคร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ท้องถิ่น, ศึกษาเรื่องคนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย จากยุคบุกเบิกสู่ยุคแห่งการต่อยอดและพัฒนา, จัดทำหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และหนังสือคู่มือท้องถิ่นของเรา ให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้เรื่องราวท้องถิ่นของตนเอง สร้างความรัก ผูกพัน และความภาคภูมิใจในบ้านเกิด

ปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด จำนวน 7 แห่ง เพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ฯ บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุ 100 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2570 ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จ.สุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ให้มีการบริการที่ทันสมัย

จดหมายเหตุไทยในยุคแห่งการต่อยอดและพัฒนาระบบบริหารเอกสาร เพื่อรองรับนโยบายในการส่งเสริมให้ภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติราชการ ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้, ต่อยอดบทบาทของหอสมุดแห่งชาติ จาก "แหล่งอนุรักษ์" ไปสู่ "ศูนย์กลางนวัตกรรมทางปัญญาของชาติ" นำเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว พร้อมมุ่งต่อยอดการสร้างนวัตกรรมการบริการและการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, เปิดอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์แห่งใหม่ จ.ปทุมธานี เสริมศักยภาพในการยกระดับมาตรฐานงานอนุรักษ์โบราณวัตถุและมรดกทางวัฒนธรรมทุกประเภทของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล

“กรมศิลปากรยังคงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ ทำนุบำรุง สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนุรักษ์ สืบทอด สู่การต่อยอดและพัฒนา และคงธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยไว้อย่างยั่งยืนมั่นคงสืบไป” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว