ออม-สุดารัตน์ แก้วเปรม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร (หลักสูตรเทียบโอน ปวส.) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จากเด็กที่เคยลังเลกับเส้นทางชีวิต วันนี้เธอคือเจ้าของแบรนด์เค้กออนไลน์ imaom Bakery Homemade วัย 21 ปี ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นของความพยายามและความฝันที่ฟูฟ่องขึ้นทุกวัน

ออม เล่าว่า จุดเริ่มต้นของความหลงใหลในโลกเบเกอรี่เริ่มขึ้นในช่วง ม. 3 หลังจากได้ดูรายการ MasterChef Thailand ภาพของเชฟที่บรรจงสร้างสรรค์เค้กอย่างพิถีพิถัน “จุดประกายความฝัน” เล็กๆ ในใจของเด็กสาว และด้วยบรรยากาศของบ้านที่คลุกคลีอยู่กับร้านอาหาร เธอจึงมีโอกาสทดลองทำขนมจากอุปกรณ์ในครัวที่มีอยู่ โดยใช้ “ซึ้งนึ่งธรรมดา” ที่เคยใช้นึ่งข้าวหรือปลา แปรเปลี่ยนเป็นอาวุธลับที่ใช้ทำ “เค้กช็อกโกแลต” ชิ้นแรกได้สำเร็จ

ด้วยรสชาติที่ถูกปากคนในครอบครัวและเพื่อนของแม่ ความสำเร็จในระดับครัวเรือนเสมือนเชื้อไฟที่เติมฝันให้ลุกโชน ออมเล่าต่อว่าไม่นานหลังจากนั้น เตาอบ Sharp ขนาด 45 ลิตร มูลค่าห้าพันกว่าบาท ก็กลายเป็นของขวัญชิ้นสำคัญจากแม่ ที่มองเห็นความมุ่งมั่นในแววตาของลูกสาววัย 16 ปี และตามมาด้วยเครื่องตีแป้งอีกหนึ่งเครื่อง

จากวันนั้นเป็นต้นมา “ครัวน้อย” ที่บ้าน ก็เริ่มต้นสร้างสรรค์บราวนี่และเค้กกล้วยหอมขายให้กับเพื่อนและญาติๆ แม้รายได้จะยังไม่มาก แต่ทุกคำสั่งซื้อกลับเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เธอก้าวต่อไปบนเส้นทางเบเกอรี่

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งโลก แต่ยังเป็นบททดสอบที่หนักหน่วงสำหรับออม เธอต้องเผชิญกับการเรียนออนไลน์ "ความฝันที่จะได้ลงมือปฏิบัติจริงในวิชาเบเกอรี่” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงเสียดายว่า ต้องดับวูบ…กลายเป็นแค่การเรียนทฤษฎีอยู่หน้าจอ

แม้เส้นทางจะถูกขวางกั้น ทว่าไฟในใจของออมก็ยังคงร้อนแรงไม่ลดละ หลังจากจบ ปวช. เธอจึงตัดสินใจเรียนต่อ ปวส. ที่เดิม เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้เพิ่มเติม รอคอยการเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า

“หนูเชื่อว่าสักวันมันจะเป็นวันของเรา ถ้าเราไม่ได้มีเรื่องที่ผิดพลาดเลย เราจะไม่ได้เรียนรู้ตรงนั้น”ออมระบุ

การตัดสินใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ กิจกรรม "Open House” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 คือวันที่ “ความฝันของออม” ได้รับการจุดประกายอีกครั้ง ด้วยหลักสูตรที่มุ่งเน้นด้านธุรกิจควบคู่กับการเรียนปฏิบัติจริง เปิดโอกาสให้เธอได้เห็นภาพรวมของธุรกิจและการตลาด พร้อมกับเปลี่ยนภาพฝันให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

“รุ่นพี่บอกเรียนที่นี่จะได้ลงมือจริง แล้วก็จะได้เห็นห้องแลบจริงๆ มีอุปกรณ์ให้ใช้เพียบจริง พอเข้าไปก็เยอะจริงตามที่เขาบอก” ออมกล่าวด้วยความตื่นเต้น ที่ได้เห็นการเรียนการสอนที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ตรง

ในช่วงแรกของการเรียน ออมได้เรียนวิชาพื้นฐานที่สำคัญต่อการทำธุรกิจ เช่น บัญชีและการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาการตลาดกับ “อาจารย์ปรัทยุมน เลปนานนท์” ทำให้เธอได้เรียนรู้กลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นธุรกิจของเธอเอง นอกจากนี้ออมยังได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจากการฟังบรรยายของ "อาจารย์วิรุจน์ สโรบล” (ผู้ล่วงลับ) เกี่ยวกับการเปิดเพจและการสร้างการจดจำของลูกค้า ซึ่งกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างธุรกิจของเธอในภายหลัง

imaom bakery homemade จึงถือกำเนิดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนสงกรานต์ ปี 2567 ด้วยเงินทุนเพียง 2,000 บาทที่ยืมจากแม่ เค้กหน้านิ่มใส่ถ้วยกลายเป็นสินค้าตัวแรกที่เปิดประตูสู่ธุรกิจของเธอ เพียงแค่โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ออเดอร์แรกก็เข้ามาถึง 50 ถ้วย และมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 100, 200 จนถึง 600 ถ้วย ในช่วงที่พีคที่สุด

“อาจารย์บอกสร้างเพจเลยลูก ทำแฮชแท็กและโพสต์” ออมกล่าวถึงคำแนะนำที่ทำให้เพจของเธอดังและยังคงก้องอยู่ในหัวของเธอตลอดเวลา

จากนั้นลูกค้าก็เริ่มเข้ามามากขึ้นจริงๆ ซึ่งทำให้เธอมั่นใจในเส้นทางที่เลือกไว้ว่า “หนูคิดว่าตัดสินใจไม่ผิดที่เรียนที่ DPU นี้ เพราะสังคมที่นี่อบอุ่น รุ่นพี่เฟรนด์ลี่มาก ถามอะไรก็ตอบ และก็ยังมีการเรียนในวิชา Capstone ที่ช่วยให้เราเข้าใจธุรกิจมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ได้จริงในงานของตัวเอง"

ออม เล่าว่า การเรียนรู้ที่ DPU ไม่ใช่เพียงการศึกษาในห้องเรียน แต่มุ่งเน้นการเตรียมพร้อมรอบด้านสำหรับทุกสถานการณ์ในชีวิตจริง หนึ่งในวิชาที่ออมประทับใจคือ วิชาอาหารตะวันตก ที่สอนโดย “อาจารย์ชงค์สุดา โตท่าโรง” หัวหน้าหลักสูตรการโรงแรมและธุรกิจอาหาร วิชานี้ไม่เพียงถ่ายทอดความรู้เรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารเท่านั้น แต่ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและจิตวิทยา ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับอุปสรรค

“ทุกอย่างกำลังไปได้ดีอยู่แล้ว จู่ๆ เตาอบก็พัง” ออมเล่าพร้อมหัวเราะเบาๆ ราวกับมองกลับไปและเห็นความท้าทายในวันนั้นเป็นบทเรียน เธอต้องกลับมาใช้ซึ้งนึ่งขนมอีกครั้ง แม้มันจะยุ่งยากกว่าเดิม แต่เธอก็เลือกที่จะเดินหน้าต่อ

อย่างไรก็ตามปัญหาไม่ได้จบแค่เรื่องเตาอบ ลูกค้าบางรายเริ่มวิจารณ์ว่าเค้กมีรสชาติไม่คงที่ และเสียง่ายเมื่ออากาศร้อน ออมยอมรับว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก แต่แทนที่จะปล่อยให้คำวิจารณ์ทำลายกำลังใจ เธอเลือกที่จะรับฟังและนำไปปรับปรุง “ถ้าไม่มีคำพูดเหล่านั้น หนูก็คงไม่มีวันนี้” เธอกล่าว

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ออมได้ปรึกษาอาจารย์ชงค์สุดาซึ่งแนะนำให้ใช้ Alcohol Food Grade ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความคงทนของเค้ก รวมถึงแนะแนวทางปรับปรุงสูตรขนมให้ดียิ่งขึ้น ออมยังบอกว่า ความรู้ด้านจิตวิทยาผู้บริโภคจากชั้นเรียน ช่วยให้เธอเข้าใจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง

อาจารย์ชงค์สุดา กล่าวว่า ที่ DPU ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาเป็นการดูแลเอาใจใส่เหมือนครอบครัวการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นประสบการณ์จริงและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเรียนการสอน เป็นสิ่งที่ช่วยให้ออมและเพื่อนๆ ได้เติบโตและประสบความสำเร็จในธุรกิจของตนเอง

ตั้งแต่ก้าวแรกที่นักศึกษาเริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทางคณะได้เตรียมความพร้อมผ่านการประชุมใหญ่ ซึ่งมุ่งเน้นให้เด็กๆ ปรับตัวจากชีวิตมัธยมปลายมาสู่มหาวิทยาลัยได้อย่างราบรื่นและมีความสุข เมื่อเข้าสู่การเรียน รายวิชาต่างๆ ได้รับการออกแบบให้เกื้อหนุนการพัฒนาทักษะที่แท้จริง โดยมีสัดส่วนการเรียนปฏิบัติสูงถึง 80% เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนกับสถานการณ์จริง

“เรามุ่งเน้นให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์จริงผ่านการดูงานนอกสถานที่ และเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ มาบรรยาย เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นกระบวนการทำงานของเชฟมืออาชีพและสามารถนำความรู้นั้นไปปรับใช้ในธุรกิจตัวเองได้ทันที” อาจารย์ชงค์สุดา กล่าว

นอกจากการเน้นความรู้ทางธุรกิจ DPU ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในยุคดิจิทัล โดยจัดการเรียนการสอนที่เสริมด้วยเทคโนโลยี เช่น AI และเชิญศิษย์เก่ามาแบ่งปันความรู้ นอกจากนี้ยังมีการสอนเรื่องบุคลิกภาพ มารยาท และการดูแลตัวเองอย่างพิถีพิถัน “เราใส่ใจแม้ในรายละเอียดเล็กๆ เพราะเชื่อว่ามันสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของนักศึกษา” อาจารย์ชงค์สุดาเสริม

ตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดคือการสนับสนุนนักศึกษาในเรื่องการฝึกงาน ออมได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จาก “ดร.ดาวศุกร์  บุญญะศานต์” เรื่องการเขียนอีเมลสมัครงาน ซึ่งช่วยให้ออมได้โอกาสฝึกงานที่ JW Marriott Hotel Bangkok นอกจากนี้ อาจารย์ยังแนะนำการใช้เครื่องมือดิจิทัลอย่าง Canva และ Pinterest เพื่อสร้างเพจธุรกิจของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับตลาดยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

“ถามว่าเหนื่อยไหม? เหนื่อยค่ะ แต่เราต้องการให้นักศึกษาทุกคนประสบความสำเร็จทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว การดูแลนักศึกษาก็เหมือนการบำรุงต้นไม้ เราต้องดูแลดิน ใส่ปุ๋ย และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตอย่างแข็งแรง” อาจารย์ชงค์สุดา กล่าว

ทุกวันนี้ธุรกิจของออมยังคงดำเนินการควบคู่ไปกับการเรียนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เธอรู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จในตอนนี้ แต่ก็เชื่อมั่นว่ายังมีอะไรอีกมากมายให้เรียนรู้และพัฒนา สิ่งที่ทำให้ออมมั่นใจในการเดินทางครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ความพยายามของเธอเอง แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนจากคนรอบข้างและ DPU ที่เป็นเหมือนแรงผลักสำคัญ หลักสูตรการเรียนที่เน้นการปฏิบัติและการให้คำแนะนำจากอาจารย์ช่วยให้ออมพัฒนาทักษะที่นำไปใช้กับธุรกิจได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการปรับสูตรขนม การจัดการด้านการตลาด หรือการสร้างแบรนด์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

ธุรกิจนี้จึงไม่ใช่แค่การขายขนม แต่คือเครื่องพิสูจน์ว่า “ความฝัน” ที่เต็มไปด้วยความตั้งใจจริงสามารถกลายเป็นความสำเร็จได้ และสำหรับออม DPU ก็เป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย แต่คือพื้นที่ที่ให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในทุกมิติ

เรื่องราวของออมสะท้อนว่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้ การมีความฝัน ประกอบกับการสนับสนุนที่เหมาะสม สามารถพาไปสู่ความสำเร็จได้จริง เธอไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ แต่ยังแสดงให้เห็นว่า ทุกคนมีโอกาสเติบโตได้ หากกล้าที่จะเริ่มและไม่หยุดพัฒนา