เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว. มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและรมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กรบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุม 

 

ทั้งนี้นายกฯ ได้สอบถามอธิบดี ปภ. ถึงการส่ง SMS แจ้งเตือนว่า เนื้อความใน SMS ออกจากหน่วยงานไหน ใช่ ปภ. หรือไม่ โดย อธิบดี ปภ. กล่าวว่า เราใช้ข้อมูลจาก 3 ทาง 1. กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา  2. เว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหวของสหรัฐอเมริกา 3. GEOFON ของเยอรมัน ซึ่งถ้าข้อมูลยืนยันตรงกัน 2 ทาง เราจะเริ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูล และในวันที่เกิดเหตุนั้นเราได้รับข้อมูลทั้งสามทางในเวลา 13.36 น. ซึ่งนายกฯ ได้แย้งขึ้นว่า ปภ. ส่งครั้งแรกตอน 14.40 น. ตนจำได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าจะถึงเป้าหมาย 

 

โดยอธิบดี ปภ. กล่าวว่า ข้อมูลทางระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ของเราใช้เวลาในการวิเคราะห์ 10 นาที แต่ขณะที่เวลาเกิดเหตุการณ์จริงเราใช้เวลา 4 นาทีมาถึงตน และหลังจากที่ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลได้รับข้อมูลตรงกัน ทั้งจำนวนริกเตอร์ และศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเราได้รับข้อมูลการครั้งนี้เป็นเวลา 4 นาที หลังจากที่เราได้รับ SMS จากกรมอุตุนิยมวิทยาและเราก็ส่งกระจายข้อมูลทันที

 

จากนั้นนายกฯ กล่าวว่า อาจจะต้องขอปรึกษาเอกชน หากเกิดเหตุแผ่นดินไหวชัดเจนแล้ว ภายใน 5 นาทีจะต้องมี SMS แจ้งเตือนไปยังประชาชน ซึ่งตนก็เข้าใจว่าข้อมูลต้องชัด แต่สิ่งที่เกิดแน่นอนแล้วคือ แผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้น SMS สามารถส่งได้เลยอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้บริหารจัดการให้ทุกคนรีบออกจากตึก โดยอาจจะเป็นข้อความสั้นๆ 2-3 ประโยค จึงอยากสอบถามภาคเอกชนว่ามีวิธีหรือไม่ 

 

ด้าน กสทช. กล่าวว่า เรามีแบบฟอร์มการแจ้งที่เป็นมาตรฐาน มี 5 ระดับ ซึ่งทุกคนจะได้รับเหมือนกันหมด และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ก็มีข้อความได้ 70 อักขระ 

และก็ส่งไปอย่างรวดเร็ว 

 

นายกฯ ถามว่า ที่รวดเร็วนั้นคืออย่างไร กสทช. กล่าวตอบว่า ข้อความจาก ปภ.และส่งไปที่โอเปอเรเตอร์เลย โดยไม่ต้องผ่าน กสทช. นายกฯ ถามย้ำว่า ปภ. ไปโอเปอเรเตอร์ 70 อักขระ และถามต่อว่าส่งได้ครั้งละเยอะมั้ย 

 

บริษัท แอดวานซ์ฯ กล่าวว่า ได้ชี้แจงนายกว่า ในที่เกิดเหตุ SMS นั้น เรายังไม่ได้เตรียมการเยอะขนาดนี้ แต่หลังจากนั้นเราได้มีการปรับ มาเป็น 30 ล้านข้อความใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการปรับกันเอาไว้ในขณะที่ระบบ Cell Broadcast อาจจะยังทำงานไม่เต็มที่ แต่ถ้าตอนนี้ ระบบ Cell Broadcast ไปได้ เราก็เอา SMS ไว้เป็นที่สำรอง 

 

นายกฯ ได้สอบถามอีกว่า ช่วง 5-10 นาทีแรกสามารถส่งได้กี่หมายเลข บริษัท แอดวานซ์ฯ  กล่าวว่า มันค่อยๆ ไล่ไป นายกฯ กล่าวว่า สามารถส่งกระจายได้ทั่วประเทศใช่หรือไม่  หรือสามารถระบุโลเคชั่นได้เลยหรือไม่ บริษัท แอดวานซ์ฯ กล่าวว่า เป็นวิธีการไล่เรียงตามเบอร์ โดยไม่ได้มีการกำหนดโลเคชั่น 

 

ทั้งนี้บริษัท ทรูฯ กล่าวว่า การส่ง SMS ต้องเรียนตามว่า เป็นการสื่อสารหลัก ในการแจ้งเตือนการแจ้งเตือนภัย เพราะเป็นการส่งจากเบอร์หนึ่งไปอีกเบอร์หนึ่ง ซึ่งเราต้องรู้เลขหมายก่อน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ระบุว่า ปภ.ส่งมา และให้ส่งในกรุงเทพและปริมณฑล วิธีการคือ เราต้องให้ระบบรู้ว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเบอร์อะไรบ้าง เนื่องจากหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แล้วเขาเปิด โรมมิ่ง (Roaming) เราจะได้รู้ว่าเขาอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเราก็เอาข้อมูลเบอร์ทั้งหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณเกือบชั่วโมง เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีเบอร์ในกรุงเทพฯ กี่เบอร์ 

 

บริษัท ทรูฯ กล่าวว่า จากนั้นเราจึงค่อยทยอยส่ง ซึ่งเราต้องมีฐานข้อมูลก่อนที่จะส่งว่าใครอยู่ที่ไหน ซึ่งคำสั่งแรกสั่งให้ส่งที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี อันนี้จะใช้วิธีรีทิตข้อมูล และหลังจากนั้นจึงเอาเลขหมายทั้งหมดส่งไป เราอยากจะบอกว่า ถ้าเราส่ง SMS อย่างเดียว ไม่ได้ 30 ล้านหมายเลข เพราะต้องเผื่อปัจจัยอื่นๆ ทำให้เราแบ่งช่องทาง จึงขอย้ำว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางสำหรับใช้แจ้งเตือนภัย 

 

ทั้งนี้นายกฯ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าไม่ใช่ช่องทางเดียว แต่เหตุแผ่นดินไหวไม่สามารถทราบล่วงหน้าเป็นหนึ่งในเชิงรุก หมายความว่าถ้าเรากำลังต่อจิ๊กซอว์อยู่ แล้วคนจะรู้ได้อย่างไร ซึ่งทุกคนก็มีมือถืออยู่แล้ว ซึ่ง SMS เป็นเชิงรุกว่ามีข้อความแผ่นดินไหว 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เมื่อเวลา 15.00 น. ได้มีการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือระบุว่า “ นี่คือการทดสอบ การส่งข้อความของระบบ Cell Broadcast ผู้ได้รับปฎิบัติภารกิจตามปกติ THIS IS A TEST Cell Broadcast message. No action is needed.

 

จากเวลา 15.05 น. นายกฯ แถลงภายหลังการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทันทีที่มาถึงจุดให้สัมภาษณ์นายกฯได้สอบถามสื่อมวลชนว่า ได้รับข้อความแจ้งเตือนหรือไม่ โดยสื่อมวลชนส่วนใหญ่แจ้งว่าไม่ได้รับข้อความ ขณะที่ผู้สื่อมวลชนบางคนตอบนายกฯว่า ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวยังไม่ได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยแม้แต่ข้อความเดียว นายกฯ จึงระบุทันทีว่า เหมือนกันเลย และข้อความเมื่อสักครู่ที่ส่งเป็นการทดลองโดยจะจับในเรื่องของโลเคชั่น เลยเป็นบางคนที่ได้รับข้อความ บางคนก็ไม่ได้รับ แต่ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในห้องได้รับหมด และผู้ที่จะได้รับข้อความต้องใช้โทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ ซึ่งผู้สื่อข่าวได้แจ้งนายกฯว่าใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์ก็ไม่ได้รับข้อความ ก่อนที่นายกฯจะระบุว่า แอนดรอยด์ก็ไม่ได้หรอ แต่ในห้องประชุมแอนดรอยด์ได้หมด อาจจะด้วยระยะทางความไกล เมื่อสักครู่เป็นการทดสอบระบบ 

 

นายกฯ กล่าวอีกว่า การประชุมวันนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมาถอดบทเรียนว่า เกิดอะไรขึ้น เราสามารถปรับปรุงแก้ไขตรงไหนได้บ้าง นี่คือสิ่งที่ได้ข้อสรุป เพราะ Cell Broadcast การส่งข้อความสั้นๆพร้อมกันไปยังผู้ใช้โทรศัพท์ จะมาในช่วงเดือน ก.ค. เพราะฉะนั้นระหว่างนี้ ถ้าสมมุติมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็มีการเรียงลำดับงานทั้งหมด ตอนนี้ได้ข้อสรุปว่าตั้งแต่วันนี้จนถึงวันก่อนจะมี Cell Broadcast เราจะทำอะไรกันบ้าง โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาเพื่อที่จะได้ดำเนินงานได้ชัดเจน  

 

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องที่จะทำ 1.จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบ SOP โดยเมื่อรับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ส่งข้อความได้เลย โดยจะมีการวางรูปแบบข้อความไว้เลย ต้องเป็นข้อความที่กระชับ เข้าใจง่าย เช่น แผ่นดินไหวเกิดขึ้นจะทำอย่างไร ตอนนี้ประเด็นปัญหามีอยู่ว่า ตอนที่ Cell Broadcast ยังไม่ได้ มีเรื่องของการส่ง SMS ที่ได้เฉพาะระบบแอนดรอยด์อยู่ ซึ่งมี 70 ล้านเบอร์ IOS อีก 50 ล้านเบอร์ ตอนนี้ กสทช. ก็ติดต่อกับ Apple ว่าให้สามารถรับข้อความได้เช่นกัน เพื่อที่จะขยายเบอร์ให้มากยิ่งขึ้น 

 

นายกฯ กล่าวว่า 2. ระหว่างรอ  Cell Broadcast ระบบเต็ม ให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast (CBE) หรือการส่งข้อความเสมือนจริงก่อน ซึ่งระบบแอนดรอยด์ ปภ. สามารถส่งข้อความผ่านโอเปอเรเตอร์ได้เลย ส่วนอีก 50 ล้านเลขหมายในระบบ IOS ให้ส่ง SMS ไปก่อน โดยปภ.ส่งข้อความผ่านโอเปอเรเตอร์ได้เลย เพื่อกระจายสู่เบอร์ประชาชน โดยกระทรวงดีอี และกสทช.จะเร่งเจรจากับ IOS เพื่อให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast ทั้งหมดนี้จะสามารถใช้ได้ในทันที 

 

นายกฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ขอเรียนว่าระบบเตือนภัย SMS หรือ Cell Broadcast  เป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้นในการแจ้งเตือนภัย แต่รัฐบาลจะมีการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟซบุ๊ก รวมถึงโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่ง ปภ.จะส่งให้สื่อหลักอีกครั้ง รวมถึงให้กรมประชาสัมพันธ์ ได้ประชาสัมพันธ์เบื้องต้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่อง SMS ตามที่คุยทั้งหมดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อ Cell Broadcast มาแล้วดีอย่างไร จะสามารถกระจายข้อความได้ทุกเลขหมายได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อสักครู่ที่ได้ทดลองจะมีเสียงเตือนดังขึ้นเหมือนเบอร์ที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์น้ำท่วม พายุเข้า จะมีเสียงดังขึ้นที่โทรศัพท์เลย ไม่ว่าจะปิดเสียงอยู่หรือไม่ มันจะดังเตือนขึ้นมา ซึ่งเอาไว้เตือนในเรื่องสำคัญ เช่นแผ่นดินไหวหรือเหตุการณ์ใหญ่ๆที่เกิดขึ้น