เป็นอีกเรื่องราวที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจหลังเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกในเมียนมาในวันนี้ สำหรับบทความจาก “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้อธิบายถึงแผ่นดินไหวและสึนามิที่อาจเกิดกับประเทศไทย  ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat  โดยระบุว่า "อยากอธิบายเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิที่อาจเกิดกับประเทศไทยให้ชัดๆ ครับ

ผมใช้กรณีที่เกิดในอดีตมาเทียบให้ดู แผ่นดินไหวที่อาเจะห์ ตอน 7 โมง 58 นาที กว่าคลื่นจะมาถึงชายฝั่งอันดามันของไทย ประมาณ 10 โมง เรามีเวลา 2 ชั่วโมงในการเตรียมตัวและแจ้งเตือน

จุดที่จะเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิระดับรุนแรงก็คงเป็นแถวนั้น หรือแม้แต่เกาะภูเขาไฟ barren ในหมู่เกาะอันดามัน (อินเดีย) ก็อยู่ห่างเมืองไทยมากกว่าอาเจะห์

ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว หลายหน่วยงานในโลกจะมีการติดตามและประเมินโอกาสที่จะเกิดสึนามิ และสามารถประมวลผลในเวลาไม่นาน เราจะได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า

เรายังมีทุ่นเตือนภัยเพื่อความอุ่นใจ ต่อให้ทุ่นขัดข้อง เราก็รู้จากการเตือนล่วงหน้าของนานาชาติ

ในกรณีสึนามิ อย่านำไปเทียบกับแผ่นดินไหว เราเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้แค่ไม่กี่วินาที แต่คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว กว่าจะถึงเมืองไทย 2 ชั่วโมง (ฝั่งอันดามัน) เราพอมีเวลา

ยิ่งถ้าเป็นอ่าวไทย จุดเกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรงขนาดเกิดคลื่นที่สร้างความเสียหาย จะอยู่ไกลยิ่งกว่าฝั่งอันดามัน คลื่นใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมง

หากเทียบกับ 20 ปีก่อน ตอนนั้นคนไทยยังแทบไม่รู้จักสึนามิด้วยซ้ำ สื่อโซเชียลก็ยังไม่มี (ไม่มีเฟซ ฯลฯ) คนที่รู้มีเพียงนักวิทยาศาสตร์ในวงแคบๆ โทรไปเตือนก็ยังแทบไม่มีใครสนใจ

ผมตอบได้เพราะอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอด ตั้งแต่ต้นจนหลายเดือนให้หลัง

จึงอยากย้ำเตือนว่า ไม่ต้องตระหนกตกใจ ไม่ต้องกลัวไปเสียทุกอย่างจนเป็นกังวล ทำให้เครียด จิตตก ฯลฯ

แต่แน่นอนว่าภาครัฐต้องมีระบบการแจ้งเตือนที่ดีกว่านี้มากๆ เพื่อให้เข้าถึงทุกคน (จนปัจจุบันผมยังไม่ได้ SMS ใดๆ เลย) เป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างเร่งด่วน

ยังรวมถึงการทดสอบระบบเตือนภัยต่างๆ เพื่อสร้างความอุ่นใจและเชื่อใจมั่นใจให้ประชาชน

น้ำลงต่ำ นกบิน หมาเห่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นก่อนคลื่นถึงฝั่งเพียงไม่กี่นาที แต่สำหรับประเทศไทย เรารู้ล่วงหน้าก่อนคลื่นเข้าฝั่งได้ 2 ชั่วโมงครับ"

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat