วันที่ 31 มี.ค.68 ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ น.ส.ซาบีดา  ไทยเศรษฐ์   รมว.มหาดไทย  เดินทางไปตรวจสอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์  หรือศูนย์ราชการอาคาร A   หลังเกิดอาฟเตอร์ช็อก   จนต้องอพยพ ประชาชนและเจ้าหน้าที่ออกจากอาคารเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

น.ส.ซาบีดา เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือกับกรมโยธาธิการ ผังเมือง และสภาวิศวกร เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่าไม่มีผลต่อโครงสร้างของอาคารศูนย์ราชการอาคาร A    สามารถใช้งานได้ตามปกติ เจ้าหน้าที่เข้าไปปฎิบัติหน้าที่ และประชาชนสามารถติดต่อหน่วยงานราชการได้ตามปกติ

มีความพยายามที่จะไล่ตรวจสอบให้ครบทุกอาคาร  โดยมีศูนย์รับแจ้งที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเกี่ยวกับการเข้าตรวจสอบอาคารติดต่อได้ทางสายด่วน 1531 ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งทางกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือไปยังกรุงเทพมหานครให้แจ้งไปยังอาคารต่าง ๆ ให้มีการตรวจสอบอาคารอย่างเข้มข้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน

ด้านนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง  เปิดเผยว่า สาเหตุมาจากเมื่อเวลา 8.46 - 10.28 น. เกิดอาฟเตอร์ช็อก 15 ครั้งต่อเนื่อง  ขนาด 2-3.4 ริกเตอร์    จากการตรวจสอบมีเพียงรอยร้าวที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา  รอยร้าวภายนอก ซึ่งไม่มีผลต่อโครงสร้างของอาคาร 

ส่วนที่มีการแชร์ภาพและข้อมูลในโซเชียลว่าอาคารศูนย์ราชการอาคาร A เอียง แท้ที่จริงแล้วเป็นการออกแบบที่มีลักษณะเอียงอยู่แล้ว  ไม่ได้เกิดจากความเสียหายแต่อย่างใด ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองจะส่งทีมวิศวกรมาตรวจซ้ำอีกที เพื่อสำรวจว่ามีความเสียหายเพิ่มเติมหรือไม่ แต่จากการที่ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบความเสียหายแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบอาคารหน่วยงานรัฐ โรงพยาบาลรัฐ และสถานศึกษา ในกรุงเทพมหานคร กว่า 200 อาคาร มีการสั่งห้ามใช้อาคาร 4 แห่ง คือ อาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลเลิด มีปัญหาที่บริเวณทางเชื่อมอาคาร สั่งห้ามใช้ถังเชื่อมอาคารแต่ตัวอาคารยังใช้งานได้ตามปกติ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (อาคาร 30 ชั้น เมืองทอง) มีความเสียหายเกิดขึ้นที่ชั้น 3 และอาคารกรมสรรพากร ซอยอารีย์

นายธเนศ  วีระศิริ   นายกสภาวิศวกร ยืนยันว่า อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นมีผลต่อโครงสร้างอาคาร ซึ่งตนเองนั้นทำงานอยู่ที่ชั้น 7 ของอาคารนี้มานานกว่า 10 ปี ได้รับรู้และได้เห็นรอยร้าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เข่นที่บริเวณชั้น 7 ของอาคาร ซีกที่ตนเองทำงานอยู่ เป็นรอยร้าวผนังที่มีมาเดิมอยู่แล้ว

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็มีรอยร้าวเกิดขึ้นในอาคาร ซึ่งเป็นผิวด้านนอกที่ฉาบปูนไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง รอยต่อระหว่างคานกับเสาไม่มีรอยแตกร้าว แต่การเกิดอาฟเตอร์ช็อกในวันนี้ไม่ได้มีรอยร้าวเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนที่เผยอหรือหลุดออกมาภายนอกนั้น เป็นชิ้นส่วนตกแต่งภายนอกอาคารไม่มีผลต่อโครงสร้างเช่นกัน