สลด!“แผ่นดินไหว” คร่าแล้ว 19 ศพ บาดเจ็บ 32 ราย สูญหาย 81 ราย ด้าน “เจ้าหน้าที่” เร่งค้นหาผู้รอดชีวิต “ตึกสตง.”ถล่ม “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ยันแผนปฏิบัติการเน้นค้นหาผู้รอดชีวิต ส่วน “อนุทิน” เซ็นตั้ง “กก.สอบ”ตึกถล่ม ภายใน 7 วัน เพื่อตอบข้อสงสัยของประชาชนและสังคมให้กระจ่าง ขณะที่ “ประเสริฐ” ล้อมคอก เรียก “ปภ.-กสทช.-โอเปอเรเตอร์” สางปัญหา “ระบบเตือนภัย” ล่าช้า ประชาชน วางระบบ-ขั้นตอนเคร่งครัด ย้ำให้ประสานงานกันใกล้ชิด แจ้งเตือน “ภัยฉุกเฉิน”ให้ถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว
จากเหตุแผ่นดินไหว รอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 มาตราริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 1,100 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร โดยส่งผลกระทบและสะเทือนมาถึงทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)หลังใหม่ สูง 30 ชั้น ใช้งบประมาณ 2,136 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร เกิดพังถล่ม มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งระดมค้นหาผู้รอดชีวิตและกู้ซากตึกถล่มตามข่าวที่เสนอมานั้น
เมื่อวันที่ 30 มี.ค.68 เพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” อัปเดตตัวเลขผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย โดยข้อมูลรายงานสถานการณ์จาก “ศูนย์เอราวัณ”กรณีเหตุแผ่นดินไหว อัปเดตล่าสุด วันที่ 30 มี.ค.68 ณ เวลา 08.00 น.พบว่า มีผู้เสียชีวิต 19 ราย ผู้บาดเจ็บ 32 คน สูญหาย 81 คนนคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว แยกคือ 1.อาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และอาคารใกล้เคียงที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่ม มีผู้บาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาล 20 คน เสียชีวิต 12 คน 2.เครนก่อสร้างถล่มที่แยกบางโพ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 4 ราย 3.อาคารลีลมคอมเพล็กซ์ ลิฟท์ขาด มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย 4.เครนล้ม ย่านดินแดง มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย 5.คอนโดเดอะเบสท์ พระราม 9 มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย 6.ไซด์งาน รามอินทรา 64 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 7.อาคารเมโทรโพลิส สุขุมวิท 39 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 8.คอนโดวิทยุคอมเพล็กซ์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 9.คอนโดนิสโมโน บางโพ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 10.คอนโดไลฟ์วัน ถ.วิทยุเหนือ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
ส่วนความคืบหน้าการค้นหาผู้รอดชีวิต จากเหตุอาคารก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ใหม่ถล่ม บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 แขวงและเขตจตุจักร กรุงเทพฯ ล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น. พบร่างของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชายเพิ่มอีก 1 ราย และได้มีการนำร่างไปที่สถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ และพบร่างผู้เสียชีวิตเป็นหญิงอีก 1 ราย เจ้าหน้าที่กำลังทำการกู้ร่างออกจากซากตึก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบความคืบหน้าการปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย โดยระบุว่า ขณะนี้ทุกหน่วยยังเดินหน้าค้นหาช่วยชีวิตผู้ประสบภัย โดยยังมีความหวังเต็มที่ แม้ใกล้ครบ 48 ชั่วโมงแล้ว เพราะยังสแกนพบสัญญาณชีพ รวมถึงยังพบร่างของผู้เสียชีวิตที่ยังนำออกมาไม่ได้ ก็ต้องทยอยเอาออกมาให้ได้ก่อน ซึ่งจุดที่พบสัญญาณชีพตอนนี้ คือบริเวณด้านหน้าอาคาร โซนเอ ซึ่งมีโพรงใต้ดิน เบื้องต้นได้ใช้เครื่องสแกนตรวจพบลักษณะมวลร่างกาย ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังค่อยๆ ขุดซากปรักหักพักลงไป และใข้สุนัข K-9 ตรวจสอบ หากสุนัขมีท่าทางตื่นเต้นดีใจ ก็หมายความว่ายังมีชีวิต แต่หากสุนัขนั่งลง ก็หมายความว่าพบเป็นศพ
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับความยากตอนนี้ เนื่องจากเป็นการช่วยชีวิตไม่ใช่แค่การรื้อถอน ในการจะยกชิ้นส่วนต่างๆ ออก จึงจะต้องระมัดระวังมาก เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงกับผู้ที่ยังรอดชีวิต จึงต้องมีการมอนิเตอร์ตลอด และเจ้าหน้าที่ที่ลงไปก็ต้องระมัดระวัง แต่มั่นใจได้ว่าทุกอย่างทำตามมาตรฐานสากล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติมาร่วมวางแผนด้วย
“ส่วนสถานการณ์ตรงจุดอื่นๆ ตอนนี้บริเวณทางด่วนดินแดง ที่มีเครนล้มลงมาพาดปิดทางด่วนนั้น เมื่อวานนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาบัญชาการเหตุการณ์ และสั่งตัดเครนแล้ว ตอนนี้ทยอยตัดไปได้เยอะแล้ว คาดว่าหากบ่ายวันนี้ดำเนินการได้แล้วเสร็จ พรุ่งนี้ก็จะเปิดการจราจรได้ แต่รอสรุปภาพรวมตอนเย็นอีกครั้ง ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ก็กำลังดำเนินการเร่งตรวจสอบ หากเรียบร้อยและกลับมาเปิดใช้งาน ก็คาดว่าสภาพการจราจรจะกลับมาปกติ 100%”
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ ได้ลงนามในหนังสือ ขอให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร ประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าทำการตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินวิธีการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซม หรือเสริมกำลังของอาคาร เพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย มั่นคง แข็งแรง ต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และขอให้รายงานผลต่อกรุงเทพมหานครทุกวัน ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย โดยให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารสามารถรายงานผลให้กรุงเทพมหานครทราบทุกวัน ผ่านระบบ Google form ตามลิงก์ https://forms.gle/4dxiHsZCZZpbiGkQA หรือ QR code ด้านล่าง
ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ เจ้าของอาคาร 9 ประเภท ที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ป้าย ซึ่งการให้รายงานในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก็เพื่อให้สามารถเฝ้าติดตามจุดเสี่ยง ร้อยร้าว ความเสียหายของอาคาร มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ยังใช้สอยได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยใน Google Form จะให้ระบุชื่อเจ้าของอาคาร ชื่อผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ผู้ตรวจสอบอาคาร และความคิดเห็นผู้ตรวจสอบอาคาร ว่าอาคารปลอดภัย หรือต้องปรับปรุง เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ทราบภาพรวมของอาคารในกรุงเทพฯ ผ่านความร่วมมือของผู้ตรวจสอบอาคาร
1. อาคารสูง (ความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป) 2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีเนื้อที่อาคารรวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป) 3. อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือจำนวนคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 4. โรงมหรสพ 5. โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง ขึ้นไป 6. สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตร ขึ้นไป 7. อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (หอพัก อะพาร์ตเม้นต์) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป 8. โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป 9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดิน ตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตร ขึ้นไป
พร้อมกันนี้ ขอความให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้แจ้ง ต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครนในสถานที่ก่อสร้างก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน
ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยอุโมงค์ถล่มและแผ่นดินไหวของกระทรวงการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินประเทศจีน เข้าพบปะหารือ ภายหลังไทยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งมีจุดศูนย์กลางที่มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา โดยทางการจีนได้ แสดงความเสียใจ และแสดงความไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยการเข้าพบครั้งนี้ทางการจีนประสานขอเข้าพบเอง โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง
สำหรับทางการจีนที่เข้าพบในวันนี้ประกอบไปด้วย H.E Han Zhiqiang เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ,Mr.Jiang Wei ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและพาณิชย์ ,Mr.Zhao Xiaoxiao ที่ปรึกษา, Ms.Zhang Ying ผู้แปลภาษา (ล่าม) และ Mr.Li Yingping ตัวแทนบริษัทเอกชนจีน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว
ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวขอขอบคุณ นายหาน จื้อเฉียง และทางการจีน ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเมื่อยามประเทศไทยเกิดเหตุสาธารณภัยมาโดยตลอด ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จุดที่สร้างความเสียหายและสร้างความวิตกที่สุด คือ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดอน(สตง.)แห่งใหม่ที่พังถล่ม ในส่วนอาคารอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ โครงสร้างต่าง ๆ ระบบต่าง ๆ ได้รับความเสียหายไม่มากนัก และอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ โดยกรณีนี้ทางการไทยจะเร่งพิสูจน์ให้ได้ว่า เหตุใดจึงถล่ม เพราะอาคารนี้เพิ่งก่อสร้างและได้รับการออกแบบที่ต้องรองรับและทนต่อการเกิดแผ่นดินไหวแล้ว โดยกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงและรายงานมายัง รมว.มหาดไทยภายใน 7 วัน เพื่อตอบข้อสงสัยของประชาชนและสังคมให้กระจ่าง
“เนื่องจากอาคาร สตง.หลังใหม่ที่พังถล่มนี้เป็นอาคารของทางราชการ จึงไม่ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น คือ กรุงเทพมหานครในการก่อสร้าง ดังนั้น การสอบสวนจึงจะดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ออกแบบ 2. ผู้ควบคุมงาน และ 3. ผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยหากผลการสอบสวนออกมาว่า ผู้ก่อสร้างได้ทำตามแบบและขั้นตอนทุกอย่าง ความผิดของผู้รับเหมาก็จะลดน้อยลงไป แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่า มีการทำที่นอกเหนือจากแบบ และมีการใช้วัสดุที่ไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ ก็จะต้องได้รับผลตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และทางการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่กังวลในขณะนี้ คือ เวลาผ่านไปจะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว เราต้องการจะช่วยชีวิตคน ใช้ทุกวิถีทางหาผู้รอดชีวิตให้มากที่สุด เพราะตามทฤษฎี เราเชื่อว่า ถ้าสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ใน 72 ชั่วโมง เรายังมีความหวังจะช่วยผู้รอดชีวิตมากขึ้น ตอนนี้เหลือ 26 ชั่วโมง โดยการกู้ภัยเราหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องจักรหนักไปทุบ ไปเคลื่อนย้ายโครงสร้าง เพราะอาจจะไปส่งผลต่อชีวิตผู้ประสบภัยและทีมที่กำลังช่วยเหลือ ตอนนี้จึงใช้วิธีทำโครงสร้างค้ำยันและค่อยๆ ค้นหาและนำผู้ประสบภัยออกมา ส่วนผู้ที่เสียชีวิตเราก็ต้องเร่งลำเลียงร่างออกมา
ด้านนายหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า ในนามรัฐบาลจีนขอแสดงความเสียใจและแสดงความไว้อาลัยกับผู้เสียชีวิต โดยสาเหตุอาคารถล่ม ทางการจีนจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการสืบสวนหาสาเหตุอย่างเต็มที่ เพราะมีบริษัทของจีนร่วมในการก่อสร้างด้วย และขณะนี้ ทางการจีนได้สั่งให้บริษัทผู้ก่อสร้างให้ความร่วมมือกับประเทศไทยอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นว่าการสอบสวนของทางการไทยเป็นไปอย่างยุติธรรมอยู่แล้ว
จากนั้นเวลา 11.00 น.นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบครั้งนี้ว่า เอกอัครราชทูตจีนได้ประสานให้ทางการจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวเข้ามา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญรายนี้ได้เข้าไปดูหน้างานแล้ว และบอกว่าสิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่ในขณะนี้ในเรื่องของการกู้ภัยได้มาตรฐาน และมีความเชี่ยวชาญ ไม่ต้องให้คำแนะนำอะไรเพิ่มเติม เพราะขณะนี้ 48 ชั่วโมงแล้ว หากจะเปลี่ยนวิธีการไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไร ซึ่งหลังจากนี้ในช่วง 72 ชั่วโมงจกนี้ไปก็จะเร่งหาผู้ที่เสียชีวิตและผู้ที่ติดอยู่ในตึกให้เร็วและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของผู้รับเหมา ไทยชี้แจงว่าไม่สามารถให้เข้าไปในพื้นที่ได้ แต่ได้แจ้งว่าเป็นผู้รับเหมาที่มาจากประเทศจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มา คือเข้ามาช่วยประเมินสถานการณ์ ไม่ได้เกี่ยวกับการหาข้อเท็จจริงอะไรอยู่แล้ว และขณะนี้ อยู่ระหว่างการเคลียพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพราะยังหวังว่าจะยังมีผู้มีชีวิต หลังจากนี้ก็จะเร่งเคลียร์ไซด์งานให้เร็วที่สุด
เมื่อถามถึงกรณีที่ทีกระแสว่า พบชายชุดดำหอบแฟ้มเอกสารออกจากพื้นที่เกิดเหตุ นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้(30 มี.ค.)เมื่อช่วงเช้าตนได้เซ็นตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องของการก่อสร้างอาคาร สตง.ที่ถล่ม โดยมีวิศวกรใหญ่ จากกรมโยธาธิการและผู้เชี่ยวชาญ ที่เชื่อถือได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ7 วัน เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ ไม่ว่าจะหอบแฟ้มอะไรไปก็แล้วแต่ แต่แบบก่อสร้าง เอกสาร และสัญญาก็ยังคงมีอยู่ที่ สตง.ไม่สามารถเอาหลักฐานอะไรออกไปพ้น
ส่วนที่เกิดคำถามว่า กทม. อนุมัติไปได้อย่างไรนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า กทม.เป็นผู้อนุมัติก็จริง แต่อาคารที่เป็นของราชการแค่แจ้งกทม.ให้รับทราบ หน่วยงานเจ้าของโครงการก็ไปจัดการประมูลและผู้ออกแบบก็ต้องเซ็นรับรองอยู่แล้ว ดังนั้นการสอบขณะนี้ จึงเน้นไปที่ผู้ออกแบบและผู้คุมงานและผู้ก่อสร้าง ซึ่งผู้ก่อสร้างจะเป็นบริษัท ต้องไปดูว่าสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะในสัญญาระบุว่าเป็นบริษัทร่วมค้า ระหว่างไทยกับจีน จึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ยืนยันว่า ต้องไปไล่บี้ให้ได้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้กระทำผิดก็ต้องรับผิดชอบทั้งคู่
“ทำไมตึกนี้ถึงถล่ม เพราะเป็นตึกที่สร้างใหม่ จึงต้องมีการก่อสร้างที่รองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ตามกฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2540 จะมาบอกว่าโครงสร้างยังไม่เสร็จไม่น่าจะใช่ ดังนั้นจึงต้องมุ่งไปที่แบบของอาคารก่อนอันดับแรก ถ้าหากแบบถูกต้อง ก็ต้องมาตรวจสอบในขั้นตอนการก่อสร้าง ยืนยันว่า ทั้งบริษัทไทยและบริษัทจีนที่เป็นคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบเต็ม 100 ทั้งหมด และแผ่นดินไหวครั้งนี้แรงสั่นสะเทือนถึง 7.8 ริกเตอร์ แต่พบว่า มีอาคารมากกว่า 95% ยังคงยืนอยู่ได้ แต่ส่วนที่มีความเสียหายถึงขั้นถล่มก็มีเพียงอาคาร สตง. ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถหาข้อบกพร่องได้อย่างแน่นอน ”นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทินยังกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบอาคารพื้นที่ต่างจังหวัด ว่า ในแต่ละจังหวัดมีโยธาธิการจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งจะเข้าไปตรวจอาคารสาธารณะต่างๆ ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และอาคารที่ทำการที่ให้ให้บริการพี่น้องประชาชน ส่วนเรื่องการตรวจสอบอาคารอย่างเช่นในพื้นที่กรุงเทพฯ โรงแรม คอนโด ต่างๆ ก็จะมีรอบการตรวจทุกปีอยู่แล้ว โดยเจ้าของอาคาร ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยก็จะมีการความร่วมมือให้มีการตรวจประจำปีทันที เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวก็ไม่ต้องรอให้ถึงรอบ และเชื่อว่าเจ้าของอาคาร หรือคอนโดต่างๆ จะให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้อยู่อาศัย
ส่วน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลการเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) เพื่อสรุปแนวทางแก้ไขความผิดพลาดเรื่องระบบการแจ้งเตือนภัย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องของกระบวนการส่งข้อมูลการแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย SMS ตามข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ ปภ. และ กสทช.ดำเนินการส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยถึงประชาชนให้เร็วขึ้น ทันเวลาและทั่วถึง ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องจากประชาชน โดยสามารถสรุปขั้นตอนได้ดังนี้
1.เมื่อ ปภ. ได้รับการแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ปภ. โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะวิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาแล้วแจ้งข้อความเตือน และ broadcast ไปให้ทาง กสทช. ในทันที จากนั้น 2.กสทช. แจ้งดำเนินการไปยัง โอเปอเรเตอร์ เพื่อส่ง SMS ไปยังประชาชนในพื้นที่ประสบภัย 3.ปภ. เตรียมแผนปฏิบัติการสื่อสาร/แผนสำรองในการแจ้งเตือนภัย ให้มีการแจ้งสถานการณ์ เบื้องต้นการปฏิบัติตนของประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ และแจ้งสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์ได้สิ้นสุดลง
“นอกจากนี้ ทาง กสทช. และหน่วยที่เกี่ยวข้องจะวางแผนการเพิ่มผังรายการให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเร่งรัดการดำเนินการเรื่องระบบแจ้งเตือนภัย (cell broadcast ) ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ครอบคลุมโทรศัพท์มือถือของประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติ เหตุฉุกเฉินในพื้นที่เป้าหมาย ประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อกระจายเสียงให้ทันท่วงที” นายประเสริฐ กล่าว