กระตุกขวัญสั่นประสาทชาวอุษาคเนย์ ทั้งชาวเมียนมา รวมถึงชาวไทย ที่หลายคนกล่าวขานว่า ไม่เคยประสบเหตุการณ์อย่างนี้ หรือถึงแม้ว่าจะเคยประสบมา แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้

สำหรับ เหตุแผ่นดินไหว ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะกาย ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ สัปดาห์ที่ผ่านมา

แรงสั่นสะเทือนก็ยังสร้างความสั่นไหวมาถึงประเทศไทย ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวราว 1,000 กิโลเมตร ถึงขนาดทำให้อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในกรุงเทพมหานคร ขนาดกว่า 30 ชั้น ที่กำลังก่อสร้างต้องถล่มพังครืนไปในพริบตา พร้อมกับคนงานอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกฝังจมไปกับกองเศษซากปรักหักพังของอาคาร จนถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่ไทยเราเผชิญความเสียหายครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้วย

ก็ต้องนับว่า เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้รุนแรงอย่างแท้จริง

ตามการเปิดเผยของ “สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา” หรือ “ยูเอสจีเอส” ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.7 ตามมาตราริกเตอร์ ขณะที่ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ของไทยเรา รายงานว่า แผ่นดินไหวมีขนาดความรุนแรงถึง 8.2 ตามมาตราริกเตอร์ โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว รายงานตรงกันว่า อยู่ลึกลงไปในชั้นใต้ดินราว 10 กิโลเมตร

ทั้งนี้ จุดศูนย์กลางที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ก็เกิดขึ้นที่บริเวณ “รอยเลื่อนสะกาย” อันหมายถึง รอยเลื่อนของเปลือกโลกที่อยู่บริเวณภูมิภาคสะกายของประเทศเมียนมา นั่นเอง ทางนักธรณีวิทยาได้ตั้งชื่อตามสถานที่ที่เป็นรอยเลื่อนของเปลือกโลกดังกล่าว ด้วยประการฉะนี้ เมียนมาจึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เพราะประเทศตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อนของเปลือกโลกข้างต้น

สภาพเมืองสะกายของเมียนมา ซึ่งเป็นย่านใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ ถึงขั้นผืนดินแยกเป็นร่องลึก จนรถบรรทุกขนาดเล็กตกหล่นไปได้ทั้งคัน (Photo : AFP

นอกจากนี้ การสั่นไหวของแผ่นดิน ก็หาได้เกิดแต่เพียงครั้งเดียวไม่ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อก หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แล้วอีกหลายระลอกตามมา

โดยการเปิดเผยของ “ยูเอสจีเอส” ระบุว่า อาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 166 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงสุด ก็เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แล้วนั่นเอง โดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 6.4 ตามมาตราริกเตอร์ ก่อนที่ความรุนแรงจากการสั่นไหวของปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อก จะลดลงมาตามลำดับ กระทั่งเข้าสู่ภาวะปกติ

ภาพจากดาวเทียมแสดงสะพานอังวะ พังถล่มลงสู่แม่น้ำอิรวดี เพราะทนแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวไม่ไหว (Photo : AFP)

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่บังเกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ว่าตัวเลขจะระบุว่า 8.2 หรือ 7.7 ตามมาตราริกเตอร์ แต่ก็ได้รับการกล่าวขานว่า รุนแรงหนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมียนมาเลยก็ว่าได้ โดยถือเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษ คือ 100 ปีก็ว่าได้

ตามการเปิดเผยของ “ยูเอสจีเอส” ก็รายงานว่า รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1912 (พ.ศ. 2455) มาเลยก็ว่าได้ ที่เมียนมาเผชิญเหตุกับแผ่นดินไหว ที่มีขนาดความรุนแรง 7.7 ตามมาตราริกเตอร์เช่นนี้

โดยในปี 1912 หรือเมื่อ 113 ปีที่แล้ว เมียนมา ประสบกับเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงวัดได้ 7.9 ตามมาตราริกเตอร์

อย่างไรก็ตาม หากยึดตัวเลขที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติของไทยเรา ก็ต้องย้อนเวลากลับไปนานกว่านั้น คือ 263 ปีที่แล้วเลยทีเดียว ซึ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณนอกชายฝั่งของรัฐยะไข่ของเมียนมา วัดแรงสั่นสะเทือนได้ประมาณ 8.5 – 8.8 ตามมาตราริกเตอร์ เมื่อปี 1762 (พ.ศ. 2305) คือ ก่อนที่ไทยเราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี 1767 (พ.ศ. 2310) เลยด้วยซ้ำ

ทางด้านความสูญเสียและผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ตามที่มีรายงาน ระบุว่า พลันที่เกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา ก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนทันทีถึง 18 ล้านคน จากจำนวนประชากรของประเทศมีทั้งสิ้น 54.13 ล้านคน โดยผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนชาวเมียนมาที่กลายเป็นผู้ประสบภัย ซึ่งนอกจากอาคารบ้านเรือนเคหสถานต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย ถึงขั้นพังถล่มลงมาเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ยังมีปัญหาจากโครงสร้าพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ ได้รับความเสียหาย หรือขัดข้อง เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า เป็นต้น ก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเหล่านี้

ในส่วนของผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วแล้วมากกว่า 2,040 ราย โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตข้างต้น ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้จากการเสียชีวิตเพิ่มเติมของผู้ได้รับบาดเจ็บ และจากผู้ที่ยังสูญหาย ซึ่งยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารอีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนผู้บาดเจ็บก็มีจำนวนมากกว่า 3,470 ราย

นอกจากนี้ ยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก ที่ยังติดใต้ซากปรักหักพังของอาคารต่างๆ

โดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ต้องประกาศบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 6 ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เดินทางมาเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงเนปิดอว์ (Photo : AFP)

ในขณะที่สถานการณ์และบรรยากาศการกู้ภัยในเมียนมา ก็ต้องบอกว่า เป็นไปด้วยความยากลำบาก จากความที่ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยที่ใช้สำหรับปฏิบัติการกู้ภัย

โดยมีรายงานว่า หลายพื้นที่ทางเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ต้องใช้สองมือเปล่าของพวกเขา ค้นหาผู้ที่ติดใต้ซากปรักหักพังของอาคารที่พังถล่มลงมา ต้องรับความช่วยเหลือจากทางการของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เป็นต้น ที่ส่งคณะเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยอย่างน้อย 37 นาย เข้าไปช่วยเหลือเมียนมาในครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามคำร้องขอจาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ส่งเสียงขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ

เจ้าหน้าที่กู้ภัยของเมียนมา ใช้มือเปล่า ในความพยายามช่วยเหลือผู้ติดใต้ซากปรักหักพังของคอนโดฯ หลังหนึ่งเมืองมัณฑะเลย์ ที่พังถล่มลงมาทับ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว (Photo : AFP

ทั้งนี้ ก็ด้วยเมียนมาถือเป็นชาติยากจนที่สุด หลังเกิดรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองตามมาตั้งแต่ปี 2021 (พ.ศ. 2564) ถึง ณ ปัจจุบัน และแม้วินาทีนี้ที่เมียนมากำลังประสบกับหายนะภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเหลือคณา แต่ไม่วายรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ยังส่งเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศเข้าใส่พื้นที่เป้าหมายฝ่ายกบฏในรัฐฉาน สร้างความวิตกกังวลให้แก่นานาประเทศ และแม้องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ก็ยังออกมาส่งเสียงกระตุ้นเตือนด้วยความเป็นห่วงสถานการณ์สวัสดิภาพประชาชนชาวเมียนมาที่กำลังเดือดร้อนหนัก ณ ชั่วโมงนี้

เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยจากจีน ที่รัฐบาลปักกิ่งส่งมา ส่งมาสนับสนุนการกู้ภัยในเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา  (Photo : AFP)