ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ยืนยันแผ่นดินไหวประเทศพม่า ไม่กระทบเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนยังมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ประชาชนมั่นใจได้100%
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลา 13.30 น. นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นายประสิทธิ์ อุปชิตร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ นางสาวชาครียา เศรษฐเสรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจติดตามสถานการณ์เขื่อนสิริกิติ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตัวเขื่อน อาคารประกอบ และอาคารโรงไฟฟ้าเขื่อนสิริกิติ์ โดยมีผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ และเจ้าหน้าที่แผนกบำรุงรักษาเขื่อน รายงานสถานการณ์และรายละเอียดข้อมูล ว่าเขื่อนสิริกิติ์ ถูกออกแบบให้รองรับแรงกระทำจากแผ่นดินไหวสูงสุด 0.1g ขณะที่ค่าความเร่งสูงสุดจากการตรวจวัดอยู่ที่ 0.00074g ซึ่งต่ำกว่าค่าการออกแบบเป็นอย่างมาก แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพม่าครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของเขื่อน
หลังจากรับฟังสรุปรายงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์กล่าวว่า "จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณที่มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศพม่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. ตามเวลาของประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7.4 โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ที่ละติจูด 21.6820 องศาเหนือ และลองจิจูด 96.1210 องศาตะวันออก ความลึก 10 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนสิริกิติ์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 637.82 กิโลเมตร ในส่วนเครื่องวัดอัตราเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหว เขื่อนสิริกิติ์ วัดได้ ค่าสูงสุด 0.00074 g แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนสิริกิติ์ จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัย100% ให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติและให้ติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
เขื่อนสิริกิติ์ เดิมชื่อว่า เขื่อนผาซ่อม โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาขนานนามเขื่อนว่า เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2515 เป็นเขื่อนดินใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบัน มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 ชุด กำลังผลิตชุดละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์.