วันที่ 29 มี.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าผลการติดตามและแนวทางคลี่คลายสถานการณ์หลังเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เรื่องตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขตจตุจักรถล่ม ปัจจุบันยังเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตอยู่ โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยทหาร และอาสาสมัครต่าง ๆ โดยแบ่งการทำงานตามหน้าที่เมื่อได้รับการร้องขอ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำเครื่องมือหนักเข้าไปในพื้นที่ เช่น เครนขนาด 200, 500, 600 ตัน และรถแบคโฮ เพื่อเปิดทางค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิต เนื่องจากติดซากชิ้นส่วนขนาดใหญ่ไม่สามารถนำออกได้ด้วยแรงเจ้าหน้าที่ จากการสำรวจคาดว่าด้านล่างอาคารน่าจะเป็นโพรงใต้ดิน อาจมีผู้รอดชีวิตติดอยู่ โดยซากชิ้นส่วนขนาดใหญ่จะถูกนำออกไปไว้บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อรอกำจัดต่อไป
นอกจากนี้ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับ กทม. 6 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การร้องเรียนของหน่วยบรรเทาสาธารณภัยบางส่วน เกิดความน้อยใจที่ไม่ได้เข้าร่วมคลี่คลายสถานการณ์กรณีตึก สตง.ถล่ม ปัจจุบันได้จัดการปัญหาเรื่องการลงทะเบียนหน้างานเรียบร้อยแล้ว 2. การให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับต่างประเทศ เช่น ประเทศเมียนมาร์ ที่อาจเป็นห่วงญาติพี่น้องของตน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์มาร่วมนำเสนอข้อมูลให้ต่างประเทศได้รับทราบ ที่ศาลาว่าการ กทม.ด้วย 3. การตรวจสอบอาคารขนาดใหญ่ กทม.ได้ออกคำสั่งให้อาคารขนาดใหญ่มีผู้ตรวจสอบอาคารมาดำเนินการ โดยใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการปฏิบัติการกรณีประกาศเขตสาธารณภัย อยู่ระหว่างลงนาม ซึ่งปกติอาคารขนาดใหญ่มีผู้ตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการตรวจสอบกรณีพิเศษซ้ำเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
4. การเปิดการจราจรทางด่วนดินแดง บริเวณที่มีเหตุเครนถล่มลงมา เพื่อแก้ปัญหารถติด โดย กทม. ได้หารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กทม. กทพ. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และมีผู้รับเหมาเจ้าของโครงการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว และจะทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะเครนที่ห้อยลงมามีน้ำหนักประมาณ 5 ตัน ซึ่งอยู่ติดกับทางด่วนดินแดง หากดำเนินการผิดพลาดอาจหล่นลงบนทางด่วนดินแดงได้ ตั้งเป้าว่าจะเปิดให้ได้ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
5. ให้กทม. เป็นผู้ประสานงานรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์จากประเทศอิสราเอลที่จะเดินทางมาถึงในคืนนี้ และความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ๆ 6. การสอบสวนสาเหตุของตึกถล่ม โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหัวหน้าในการสอบสวน และกทม. เป็นผู้ร่วม ปัจจุบันได้สั่งการให้สำนักการโยธาเก็บข้อมูลทั้งหมดของอาคารที่ถล่ม อย่างไรก็ตาม อาคารดังกล่าวเป็นของราชการ ไม่ได้ขออนุญาต เป็นการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของหน่วยราชการ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวแนวทางตรวจสอบอาคารบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวโดยวิศวกรอาสาว่า ประชาชนที่กังวลว่ารอยร้าวหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นในบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ จะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งผลกระทบผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ โดยส่งภาพจุดเสียหาย เช่น รอยร้าวต่าง ๆ พร้อมเบอร์โทรติดต่อ เพื่อให้วิศวกรพิจารณา ขอข้อมูลเพิ่มเติม หากกรณีใดพิจารณาแล้ว ยังมีความปลอดภัยจะแจ้งกลับ หากกรณีพิจารณาแล้วพบความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย จะส่งทีมลงพื้นที่ต่อไป
ส่วนกรณีที่แจ้งเข้ามาแล้ว ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ให้ส่งภาพเพิ่มเติมหลายภาพ หลายมุม เพื่อให้การพิจารณาถี่ถ้วนรอบคอบขึ้น พร้อมส่งเบอร์ติดต่อกลับกรณีวิศกรต้องการพูดคุยขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ประเภท ขนาดและที่ตั้งอาคาร รวมถึงส่งภาพระบุจุดเสียหายของอาคารที่ชัดเจนทั้งมุมกว้าง มุมแคบ เพื่อให้ทราบว่าความเสียหายอยู่ส่วนใดของอาคาร เช่น เป็นเสาโครงสร้างหลัก หรือเป็นเสาโรงจอดรถ เพื่อจะพิจารณาว่าจุดเสียหายดังกล่าวอันตรายพอให้อาคารวิบัติ หรือเป็นเพียงจุดต่อเติมเล็ก ๆ เท่านั้น ปัญหาคือ บางกรณีส่งภาพให้พิจารณาเพียงภาพเดียว วิศกรไม่สามารถออกความเห็นได้แน่ชัด สิ่งสำคัญคือ ยิ่งมีภาพ มีข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งพิจารณาได้ง่ายและเร็วขึ้น ปัจจุบันได้รับแจ้งผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์แล้วกว่า 6,000 เรื่อง จากทั้ง 50 เขต เบื้องต้น ในวันนี้ทีมวิศวกรอาสา 130 คนจะลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องที่คัดกรองความเสี่ยงแล้ว 700 เรื่อง
ด้านนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวแนวทางการตรวจสอบอาคารขนาดใหญ่และอาคารของภาครัฐว่า อาคารขนาดใหญ่ เช่น คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า จะมีวิศวกรผู้ตรวจสอบประจำอาคารทุกปีตามกฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ปัจจุบัน ทางกรมฯ ได้แจ้งให้เจ้าของอาคารเร่งตรวจสอบอาคารของตนเองเพิ่มเติม โดยแจ้งเรื่องมายังกรมฯ ซึ่งได้เตรียมวิศวกรตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 2,600 ราย อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของอาคารไม่แจ้งให้ตรวจสอบ กทม.สามารถพิจารณาออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบนอกรอบได้ตามบัญชีอาคารที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กทม.เพื่อความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจ สำหรับการแบ่งหน้าที่ตรวจสอบอาคารเบื้องต้น หากเป็นอาคารประชาชน วิศวกรอาสาและสำนักการโยธา กทม.จะเข้ามาช่วยตรวจสอบ หากเป็นอาคารราชการโดยเฉพาะโรงพยาบาล โรงเรียน กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ตรวจสอบ เบื้องต้นจากการตรวจสอบโรงพยาบาล พบอาคารหนึ่งในโรงพยาบาลราชวิถีได้รับผลกระทบมาก ได้สั่งให้ระงับการใช้อาคารนั้นแล้ว เพื่อแก้ไขต่อไป