ดีอี เตือน ข่าวปลอม “กลาโหมไฟเขียว หากสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาผิดปกติ ให้กองทัพดำเนินการได้ทันที” หวั่นทำ ปชช.เข้าใจผิด เกิดความสับสนในสังคม
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ทหารเขมรขับรถถังเคลื่อนพลพร้อมอาวุธ ประชิดชายแดนไทย” รองลงมาคือเรื่อง “กัมพูชาขอเลื่อนประชุม GBC เตรียมระดมกำลังทหารเขมรประชิดชายแดนไทย” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความสับสนในสังคม หรือในบางข่าวอาจทำให้สูญเสียทรัพย์สิน และข้อมูลส่วนบุคคล
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 21 – 27 มีนาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 828,598 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 613 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 598 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 15 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 208 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 100 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 80 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 88 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 9 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 6 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 25 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ โครงการของรัฐ การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ รวมทั้งอาจเกิดความเสียหายต่อข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สิน โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง กลาโหมไฟเขียว หากสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาผิดปกติ ให้กองทัพดำเนินการได้ทันที
อันดับที่ 2 : เรื่อง กัมพูชาขอเลื่อนประชุม GBC เตรียมระดมกำลังทหารเขมรประชิดชายแดนไทย
อันดับที่ 3 : เรื่อง ประกันสังคมปรับอายุเกษียณเป็น 60 ปี
อันดับที่ 4 : เรื่อง ประชากรพม่าใน จ.สมุทรสาคร มากกว่าประชากรไทยในพื้นที่
อันดับที่ 5 : เรื่อง ออมสิน จับมือ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อช่วยประชาชนปลดหนี้ ครอบครัวละ 200,000 บาท
อันดับที่ 6 : เรื่อง การบินไทยเปิดให้จองตั๋วเครื่องบิน เที่ยวบินชั้นประหยัดสำหรับผู้สูงอายุ 50-70 ปี
อันดับที่ 7 : เรื่อง ออมสินเปิดลงทะเบียน กู้ขั้นต่ำ 100,000 บาท ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อน 60 เดือน
อันดับที่ 8 : เรื่อง มีการฝึกซ้อมอพยพเข้าหลุมหลบภัย เนื่องจากสถานการณ์ชายแดน จ.ศรีสะเกษและสุรินทร์อยู่ในภาวะตึงเครียด
อันดับที่ 9 : เรื่อง กรมสรรพากรส่งอีเมล แจ้งให้ยืนยันการใช้สิทธิ e-TAX เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีปี 2568
อันดับที่ 10 : เรื่อง ปตท. เคยเป็นของคนไทย แต่ถูกนำไปขาย
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงของประเทศ โครงการของรัฐบาล การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน โดยในส่วนของข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความสับสนในสังคม ด้านข่าวที่เกี่ยวข้องกับธนาคารรัฐ และการให้บริการของหน่วยงานรัฐ ขอให้ประชาชนระมัดระวัง การแอบอ้างของมิจฉาชีพ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สินได้ โดยหากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม มีผลทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “กลาโหมไฟเขียว หากสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาผิดปกติ ให้กองทัพดำเนินการได้ทันที” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าว ได้มีการเผยแพร่คลิปซึ่งเป็นภาพที่นำมาตัดต่อ โดยภาพในคลิปดังกล่าวเป็นภาพการฝึกประจำปี 68 และกระทรวงกลาโหมไม่ได้มีการสั่งการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “กัมพูชาขอเลื่อนประชุม GBC เตรียมระดมกำลังทหารเขมรประชิดชายแดนไทย” กระทรวงดีอี ประสานงานร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า สาเหตุหลักที่กัมพูชาเลื่อนการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) คือมีพิธีสำคัญซึ่งประธานการประชุมและคณะกรรมการของกัมพูชาต้องเข้าร่วมพิธีประดับยศจอมพลให้กับสมเด็จพิชัย เสนาเตีย บันห์ ซึ่งเป็นพิธีที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ในประเทศกัมพูชา โดยกองทัพไทยได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่า ยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือการเพิ่มเติมกำลังทหารในบริเวณชายแดนแต่อย่างใด และสถานการณ์ชายแดนในปัจจุบันยังคงเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com