ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.25 น. และ เกิด After shock ตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบทำให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยในหลายจังหวัดและที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดคือพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลรายงานว่ามีการเกิดการถล่มของอาคารก่อสร้างตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นอาคารสูง 30 ชั้น ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

แม้ว่า การเกิดแผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นล่าสุด ในประเทศไทยจะไม่รุนแรง ถึงขั้นทำลายล้างเหมือนบางประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ แต่ก็ยังมีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ มีขนาดไม่เกิน 6.0 ริคเตอร์ ส่งผลกระทบในระดับเล็กน้อย ถึงปานกลาง เช่น การสั่นสะเทือนของสิ่งก่อสร้างใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยมีรายละเอียดดังนี้

แผ่นดินไหวที่สำคัญในประเทศไทย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หนึ่งคือแผ่นดินไหวในปี 2518 ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ขนาด 5.6 ริคเตอร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น แผ่นดินไหวที่อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ในปี 2526 ขนาด 5.9 ริคเตอร์ ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่และสามารถรู้สึกได้ในพื้นที่รอบข้าง

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วง 2542-2543

ระหว่างปี 2542 ถึง 2543 ยังพบแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใกล้พรมแดนไทย-ลาว และไทย-พม่า ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 2.1 ถึง 5.9 ริคเตอร์ และรู้สึกได้ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, แพร่ รวมถึงแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันที่ส่งผลกระทบถึงภูเก็ตและพังงา

อัตราการเกิดแผ่นดินไหว

ในช่วงปี 2533-2542 แผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ในประเทศไทยมีอัตราเฉลี่ยประมาณ 8 ครั้งต่อปี โดยส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นแหล่งที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุด

ข้อควรรู้

แม้ว่าแผ่นดินไหวในประเทศไทยจะไม่รุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง แต่ก็ยังคงต้องระมัดระวัง และติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรับข้อมูลและคำแนะนำในการเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา