นายกฯประชุม ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว จี้ปัญหา SMS แจ้งเตือนล่าช้า กำชับเตรียมแผนรับมือ แก้ปัญหาการจราจร ด้านกรมทรัพยากรธรณี แจงยังไม่มีเทคโนโลยีแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า รายงานสถานการณ์เกิดอาฟเตอร์ช็อกกว่า 100 ครั้ง จากนี้กระทบไทยน้อย

ปภ. วันนี้  ( 29 มี.ค.)  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ  จันทรวงทอง  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสมศักดิ์  เทพสุทิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย  รวมทั้งผู้ราชการจังหวัด 76 จังหวัด  

นายกฯ  กล่าวว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 13.20  น. สิ่งแรกที่ประชาชนควรได้รับรู้หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนประชาชน ทางนายภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งว่าทางกรมมีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา  จะรายงานเรื่องแผ่นดินไหวมาที่ ปภ. และทาง ปภ.แจ้ง กสทช. เพื่อส่งเอสเอ็มเอสแจ้งประชาชน 4 ครั้ง ครั้งแรกเวลา 14.42 น. เนื่องจากสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ปภ. จึงส่งในลักษณะการแจ้งให้ประชาชนเข้าไปเก็บของในอาคารได้   

ขณะที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่า กสทช.ได้ส่งเซลบอร์ดแคส หรือการส่งข้อความแชทจำนวนมาก ในเวลา  14.44 น. ซึ่งส่งได้ทีละ 2 แสนเลขหมาย ปัจจุบันส่งแล้วกว่า 10 ล้านเลขหมาย ปัญหาที่ช้า คือต้องรันหมายเลข ระยะทางที่ส่งรอบแรกครอบคลุม 4 จังหวัด ในกรุงเทพ และปริมณฑล  กทม.  ส่วนการส่งรอบที่ 2 ครบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยข้อความเป็นไปตามที่ ปภ.ส่งมา ซึ่งระบุว่า ให้แจ้งประชาชนสามารถเข้าไปในอาคารกรณีที่จำเป็น และประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับเรื่องอาฟเตอร์ซ๊อค  

และในครั้งที่ 2 และ 3 เวลา 16.07 น.และ 16.09  น. แจ้งในเรื่องข้อปฏิบัติตน เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และครั้งสุดท้ายเวลา 16.44 น. แจ้งให้ประชาชนกลับเข้าอาคารได้ 

นายกฯ ระบุว่าปัญหา คือ ส่งเอสเอ็มเอสเตือนประชาชนช้า และไม่ทั่วถึง   ข้อความไม่ได้มีประโยชน์มาก   เบื้องต้นทราบว่าระบบเซลล์บอร์ดแคส จะเปิดเต็มรูปแบบในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ที่จะสามารถส่งข้อความหนึ่งครั้งและกระจายไปได้ครอบคลุมทั้งหมด    การขอความร่วมมมือกับเครือข่ายระบบสื่อสาร  จะขอความร่วมมือได้อย่างไร   จะทำให้การส่งข้อความจาก 200,000 ต่อหนึ่งครั้งเป็น 1,000,000 คนได้อย่างไร และชาวต่างชาติที่ซื้อซิมไทยจะได้รับข่อความเตือนภัยหรือไม่   ขอให้ กสทช.และ ปภ.ประสานงานกัน  เพราะตนจะต้องตอบคำถามประชาชน  เนื่องจากตนสั่งไปตั้งแต่  14.00 น.  แต่ระบบไม่มึการส่ง  


นายกฯ ยังได้กล่าวขอบคุณรายการโทรทัศน์ทั้งหมด  ที่ออกรายการเฉพาะกิจ ที่สามารถทำได้ภายในไม่ถึง 5 นาที  หลังจากที่ได้สั่งการ พร้อมกันนี้นายกฯ กำชับทุกคนให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องแผ่นดินไหว กับประชาชนให้มากขึ้น ว่าต้องทำตัวอย่างไร 

ส่วนเรื่องระบบขนส่งสาธารณะหยุดบริการ นายชยธรรม์ พรหมศร  ปลัดกระทรวงคมนาคม   ได้รายงานว่า ทันทีที่เกิดเหตุนายสุริยะได้แจ้ง  ให้ตั้งศูนย์สั่งการของกระทรวงทันที   หลังจากนั้นสั่งการให้ระบบขนส่งมวลชนหยุดบริการชั่วคราว   เพื่อ  ตรวจสอบสถานการณ์โดยทั่วไป   ทั้ง ทางอากาศ   ราง  และน้ำ  โดยมุ่งเน้น โครงสร้างยกระดับ   อุโมงค์ใต้ดิน  ให้วิศวกรเข้าตรวจสอบ   

และในส่วนทางอากาศสั่งปิดทันทีตั้งแต่บ่ายโมงกว่า   เช็คโครงสร้างอาคารและรันเวย์   ก่อนกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งภายใน 1 ชั่วโมง    ส่วนโครงสร้างถนนทุกหน่วยได้ตรวจสอบทันที  โดยเฉพาะเส้นทางที่สุ่มเสี่ยง คือ  สะพานข้ามแม่น้ำ   ทางยกระดับของการทางพิเศษฯ  พบว่ามีปัญหาจุดเดียวคือบริเวณ ทางขึ้น-ลงเชื่อมระหว่างทางด่วนกับถนนวิภาวดีรังสิต -ดินแดง ที่มีเครนจากบนอาคารเอกชนพังลงมาทับ 

 นายกฯ ได้กล่าวเสริมว่า  หากมีเหตุการฉุกเฉินอีก รวมทั้งอุบัติเหตุ  ขอให้วางแผนเตรียมไว้  เพื่อแจ้งประชาชน  ว่าเส้นทางไหนปิดหรือมีปัญหา   ควรส่งเอสเอ็มเอสบอกข้อมูลแจ้งประชาชนได้

จากนั้นปลัดกระทรวงคมนาคม ยังรายงานว่า ในส่วนทางราง  ทางยกระดัยและใต้ดิน ที่ปิดเมื่อวาน  ก็เปิดให้บริการหมดแล้วเช้านี้   ยกเว้นสายสีชมพูกับสายสีเหลืองปิดอีก 1 วัน เพื่อตรวจสอบโครงสร้าง  ขณะที่ถนนเปิดทั้งหมดแล้ว ยกเว้นทางขึ้นทางด่วนวิภาวดีที่เครนพังลงมา หากพร้อมจะเปิดในบ่ายวันนนี้ 

ในช่วงท้ายนายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี จากที่ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงปัจจุบันพบว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง  และทุกครั้งที่เกิดจะมีความรุนแรงน้อยลง แนวโน้มการเกิดอาฟเตอร์ช๊อค จะเลื่อนไปทางทิศเหนือ  ทางเทือกเขาหิมาลัยและประเทศจีน  แปลกว่าจะเกิดห่างจากไทยมากขึ้นกว่าเดิม ยินยันว่าผลกระทบกับประเทศไทยน้อยลง และหากเกิดแรงสั่นสะเทือนเพียงระดับ  5 เราก็จะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน  

นอกจากนี้ยังได้ติดตามพฤติกรรมของรอยเลื่อนอย่างต่อเนื่อง  ยังไม่มีปฏิกิริยาว่าจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทย  พร้อมย้ำว่าจะเกิดแผ่นดินไหวอีกหรือไม่จากนี้   ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสามารถบอกได้ล่วงหน้า