จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูด 22.07°N ลองจิจูด 96.12°E ในประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้รับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่ามีผู้พักอาศัยในอาคารสูงจำนวนมากรู้สึกถึงแรงไหวโยกไปมา ส่งผลให้หลายคนตกใจและรีบอพยพออกจากตัวอาคารเพื่อความปลอดภัย แถมบางคนมีอาการเวียนหัวบ้านหมุน

ล่าสุด เพจเฟซ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความระบุว่า...

หลายคนบ่นมาว่ายังรู้สึกเวียนหัวบ้านหมุนอยู่ ทั้งที่แผ่นดินไหวจบแล้ว เกิดจากอะไรกันนะ?

จิชินโยอิ (Jishin-Yoi / じしんよい) : เมื่อร่างกายยังรู้สึกไหวแม้แผ่นดินจะหยุดสั่น

โดยทั่วไปแล้ว แผ่นดินไหวจบลงในไม่กี่วินาที แต่บางคนยังรู้สึกเหมือนโลกยังหมุนต่อ...

หากคุณเคยรู้สึกว่าพื้นยังโยกไหว ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว นั่นอาจเป็น “อาการเมาแผ่นดินไหว” หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome (PEDS) อาการนี้พบได้บ่อยในคนที่ไวต่อการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับคนที่เมารถ หรือเมาเรือ

แล้วอาการนี้เป็นยังไง?

อาการนี้เกิดจากความเสียสมดุลของประสาทส่วนกลาง โดยจะรู้สึก

เวียนหัว คลื่นไส้ เดินเซ

รู้สึกเหมือนพื้นยังโยกไปมา

อาการอาจอยู่ไม่กี่นาที หรือยาวนานหลายวัน

ดูแลตัวเองยังไง?

พักผ่อนให้เพียงพอ

หยุดเดินหากรู้สึกเซ แล้วนั่งพักในที่ปลอดภัย

ดื่มน้ำมากๆ ช่วยให้ร่างกายปรับสมดุล

หายใจลึกๆ หรือทำสมาธิเพื่อผ่อนคลาย

เลี่ยงหน้าจอมือถือ-คอมพ์ ลดการกระตุ้นอาการ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ หรือรุนแรง เช่น เวียนหัวจนล้ม คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา ควรรีบพบแพทย์ ซึ่งบางครั้งความวิตกกังวลอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการนี้ที่คงอยู่นานได้

"อาการเมาแผ่นดินไหวเป็นเครื่องเตือนว่า แม้ธรรมชาติจะหยุดไหวแล้ว แต่ใจและร่างกายของเรายังต้องการเวลาอีกสักหน่อยในการฟื้นตัว"