“319 เสียง” จาก “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่เทคะแนนโหวตลงมติ “ไว้วางใจ” ให้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ได้ไปต่อ อาจถือเป็นภาพสะท้อนถึงความแข็งแกร่ง “รัฐบาลผสม” ที่สู้อุตส่าห์ข้ามขั้วมาจับมือกันได้เป็นอย่างดี และยังอาจการันตีได้ว่าหนทางของรัฐบาลน่าจะอยู่ยาวไปจนครบเทอม จนถึงการเลือกตั้ง ปี 2570
คะแนนโหวตสนับสนุนนายกฯแพทองธาร เมื่อวันที่ 26 มี.ค.68 ที่ผ่านมา ยังน่าจะทำให้ “คนนอกสภาฯ” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ โล่งใจมากกว่าใคร เพราะอย่าลืมว่า ทักษิณ เป็นคนส่ง “ลูกสาว” เข้ามาเป็นนายกฯคนที่ 31 เมื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” มีอันต้องเจอกับอุบัติเหตุทางการเมือง
ดังนั้นเมื่อเห็นตัวเลขคะแนนลงมติไว้วางใจออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยไม่มีการแตกแถว จะยกเว้นก็เพียง “4 เสียง” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าจะงดออกเสียง สวนทางกับ “เสียงส่วนใหญ่”ในสังกัดของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรค
และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น เมื่อเสียงสนับสนุน ยังมาจาก “ฝ่ายค้าน” ด้วยฝีมือของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา แกนนำพรรคกล้าธรรม ที่ไปดึงมาได้ถึง 7 เสียง แม้จะลดลงจากเดิมที่เคยบอกตัวเลขกันเอาไว้ที่ 10 สส.ก็ตาม
การปรากฏตัวของสส.งูเห่า ที่เสริมความแข็งแกร่งให้รัฐบาลผสม ที่มี นายกฯแพทองธาร ถือธงนำและมี “พ่อ” ครอบงำ ตามที่เธอเองได้กล่าวยอมรับในระหว่างการชี้แจงฝ่ายค้าน นั้นกำลังชี้ให้เห็น ปรากฎการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่น่าสนใจ
เพราะอย่าลืมว่าการดีลดึง “7สส.งูเห่า” ครั้งนี้ถือเป็นผลงานของร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคกล้าธรรม ตัวจริง แต่น่าสนใจว่า เมื่อร.อ.ธรรมนัส สร้างผลงานให้เข้าตากรรมการ อย่างทักษิณ ได้ แต่กลับยังต้อง “วัดใจ” ว่าแล้ว นายกฯอิ๊งค์ จะ “ตบรางวัล” ให้สำหรับ “ผลงาน” 7 สส.งูเห่า ด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี หากประเมินจากน้ำเสียง นายกฯแพทองธาร เมื่อภายหลังเสร็จสิ้นการโหวตยุติลงไปแล้ว ว่าเธอเองไม่ได้ดีลกับใคร และ “ไม่ต้องการ” เสียงมาเพิ่มเติม เพราะรู้ดีว่า เสียงสนับสนุนจาก พรรคร่วมรัฐบาล นั้นมากพอ และเกินกว่า 247 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสส.ที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว
และที่สำคัญไปกว่านั้น แทบไม่มีสัญญาณ “ตอบรับ” เรื่องการตอบแทน สำหรับผลงาน 7 สส.งูเห่า ให้กับร.อ.ธรรมนัส แต่อย่างใด จนสื่อต้องซักต่อว่า หาก มีการไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ของทักษิณ เอง จนแพทองธาร ต้องระบุชัดเจนว่า ยังไม่มีการปรับครม.
เท่ากับว่า หนึ่ง นายกฯไม่ได้ต้องการ “เสียงเพิ่ม” จากงูเห่า 7สส. ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของใครก็ตาม และ สอง ไม่คิดปรับครม. ซึ่งเรื่องนี้ได้บอกกับ ทักษิณ ผู้เป็นพ่อไปแล้ว
สถานการณ์ทางการเมือง หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ บนพื้นฐานที่เต็มไปด้วยความมั่นใจถึงเสถียรภาพของรัฐบาลผสมเช่นนี้ แท้จริงแล้ว ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่รออยู่เบื้องหน้าทั้งตัวรัฐบาลเองที่ต้องเร่งสร้างผลงาน เพราะ “ฝ่ายตรวจสอบ” ตัวจริง ในวันข้างหน้าก่อนเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ “ฝ่ายค้าน” แต่เป็นพี่น้องประชาชน ว่านโยบายที่หาเสียงเอาไว้นั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมี “ศึกใน” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยกันเองที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อ เพราะการที่พรรคร่วมรัฐบาลลงมติไว้วางใจ เสียงแน่นปึ้ก ชนิดไม่ต้องลุ้น 319 เสียงในวันนี้ ย่อมไม่ได้หมายความว่าจากนี้ไป บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่ “ออกฤทธิ์” กันขึ้นมารอบใหม่
ร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่พรรคเพื่อไทย พยายามออกแรงผลักดันให้กลับเข้าสู่การพิจารณาของครม. จะราบรื่นหรือไม่ หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมยกมือโหวตให้กับนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย แต่อย่างน้อยที่สุด เมื่อเห็น “สัญญาณดี” จากเสียงโหวต จึงไม่แปลกที่ รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กลับมาที่เลขาฯครม.แล้ว รอการบรรจุเข้าสู่วาระในที่ประชุมครม.ต่อไป
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย ต้องเบรกการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากเกิด “แรงต้าน” จากพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นายกฯ ต้องออกมาให้เหตุผลของการเลื่อน ว่า “ยังไม่พร้อม”
ขณะเดียวกันปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยเองยังต้องมีการจัดทัพ เพื่อเตรียมรัยบมือกับการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด โดยที่รัฐบาล อาจอยู่ไม่ครบเทอม หาก “ปัจจัยแวดล้อม” ชี้ให้เห็นถึง “สัญญาณบวก” ต่อพรรคเพื่อไทย และฝ่ายรัฐบาลมากพอ
แต่ปัญหาของพรรคเพื่อไทย อาจไม่ใช่เรื่อง “ภายใน” เพียงอย่างเดียว เมื่อในความเป็นจริงแล้ว ทักษิณ เองจะต้องบัญชาการ และควบคุมการจัดทัพด้วยตัวเอง เมื่อถึงเวลานั้น บรรดาพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองที่เคยมีผลงาน ทักษิณ จะบริหารจัดการ อย่างไร เพื่อไม่ให้ “การต่อรอง” นอกพรรคมากระทบภายในพรรค กระทบกับสมาชิกที่สวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ด้วยกันเอง
หนทางในการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย , นายกฯอิ๊งค์ และโดยเฉพาะทักษิณ เองนั้นยังอีกยาวไกล ขณะเดียวกัน “คู่แข่ง” อย่าง พรรคภูมิใจไทย ที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกันในรัฐบาล ก็พร้อมที่จะเป็น “ผู้นำใหม่” ก้าวขึ้นมาแทนที่ ได้ทุกเมื่อ ดังนั้นศึกซักฟอกที่นายกฯอิ๊งค์ ผ่านฉลุยไปในครั้งนี้ อาจไม่ได้ชี้วัดถึงชัยชนะทั้งหมด ในข้างหน้าได้อยู่ดี !