คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์   เศรษฐช่วย

สองบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ก็คือ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์”และ “ประธานศาลฎีกา จอห์น โรเบิร์ตส์” นั่นเอง

แต่ก็ดูเหมือนว่าในแวดวงการเมืองของสหรัฐฯบุคคลผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยอิทธิพลทั้งสองมีสัมพันธภาพต่อกันอย่างแสนที่จะสลับซับซ้อนมากทีเดียว

เพราะหากจะมองอย่างผิวเผินกันแล้วจะเห็นว่าทั้งสองต่างมีความสนิทชิดเชื้อยิ้มแย้มเข้าหากัน แต่ในส่วนลึกของก้นบึ้งหัวใจของทั้งสอง นับได้ว่าทั้งคู่ต่างก็เป็นคู่แค้นซดเกาเหลาไม่กินเส้นกันมาโดยตลอด!!!

ทั้งนี้เมื่อครั้งที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรก เขาเพียรพยายามต้องการที่จะยกเลิก “พระราชบัญญัติการรักษาพยาบาลและระบบสาธารณสุขในราคาประหยัด” ที่เรียกกันว่า “โอบามาแคร์” ซึ่งถือเป็นแบรนด์เนมอันดีของ “อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา” ที่ได้รับความนิยมจากชาวอเมริกันเป็นอย่างสูง และถึงแม้ว่าบรรดานักการเมืองของค่ายพรรครีพับลิกันต่างพยายามที่จะดิสเครดิตยกเลิกโอบามาแคร์ก็ตาม แต่ต้องประสบกับความล้มเหลวมาโดยตลอด

ทั้งนี้ชาวอเมริกันที่มีโรคประจำตัว อาทิเช่นโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังต่างๆสามารถจะพึ่งพาโครงการสวัสดิภาพโอบามาแคร์ในการรักษาพยาบาล แต่ในทางกลับกันนักการเมืองของค่ายพรรครีพับลิกันออกมาโจมตีว่า โครงการนี้ทำให้งบประมาณของสหรัฐฯขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยขาดดุลอยู่แล้ว

อนึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปี ค.ศ. 2019 ถือเป็นวันชี้ชะตากรรมของโครงการโอบามาแคร์ ที่ ประธานศาลฎีกาจอห์น โรเบิร์ตส์ เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดโดยออกคำสั่งว่า ให้คงโครงการรักษาพยาบาลโอบามาแคร์นี้เอาไว้ เพื่อเป็นการคุ้มครองต่อบรรดาผู้ด้อยโอกาสที่ขาดที่พึ่งพา เพราะอุตสาหกรรมด้านอินชัวรันส์ไม่ยอมขายประกันให้แก่ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (ข้อมูลจากสถานีโทรทัศน์ช่องซีเอ็นเอ็น: The inside story of how John Roberts negotiated to save Obamacare: March 25, 2019)

เมื่อครั้งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มต้นก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองแรกๆเมื่อปีค.ศ. 2015 เขาได้ออกมากล่าว ประณามประธานศาลฎีกาจอห์น โรเบิร์ตส์ ว่าทำตัวน่าละอายและน่าผิดหวัง และยังเป็นบุคคลที่สร้างความหายนะโดยสิ้นเชิง (ข้อมูลจาก บทความชื่อ “Judiciary under press” ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส์: March 24, 2025)

ทั้งๆที่ผ่านมาประธานศาลฎีกาจอห์น โรเบิร์ตส์ ก็เคยลงมติเข้ากับเสียงข้างมากของศาลฎีกา ที่ออกมาปกป้องประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยมติ 6 ต่อ 3 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2024 ในทำนองที่ว่า “ไม่สามารถดำเนินคดีต่ออดีตประธานาธิบดี หากเข้าข่ายว่าเขาผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ” เท่ากับเป็นเกราะอันดีที่ใช้คุ้มกันประธานาธิบดีทรัมป์ในข้อกล่าวหาที่ว่า เขามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการก่อจลาจล เพื่อต้องการที่จะพลิกผลการเลือกตั้งเมื่อปีค.ศ. 2020

อย่างไรก็ตามจุดพลิกผันที่เกิดขึ้นครั้งใหม่สดๆร้อนๆเมื่อไม่นานมานี้ ที่ถือเป็นการสร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานศาลฎีกา จอห์น โรเบิร์ตส์

โดยเมื่อวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เขียนข้อความโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียของเขาว่า “Truth Social” โดยเรียกร้องให้มีการถอดถอนผู้พิพากษาหลายๆราย โดยระบุชื่อ “ดี.ซี.เจมส์ โบอัสเบิร์ก”หัวหน้าผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางของ กรุงวอชิงตัน ที่มีคำพิพากษาต่อต้านนโยบายเนรเทศของประธานาธิบดีทรัมป์!!!

โดยไม่กี่ชั่วโมงต่อมาหลังจากที่มีคำพิพากษาประธานาธิบดีทรัมป์ ได้โพสต์ข้อความต้องการที่จะถอดถอนผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลาง ที่เขาเอ่ยชื่อหัวหน้าผู้พิพากษาเจมส์ โบอัสเบิร์ก ออกมาแบบตรงๆ

ปรากฏต่อมาว่า ประธานศาลฎีกาจอห์น โรเบิร์ตส์ ได้ออกมากล่าวแถลงการณ์ต่อสาธารณชนเป็นกรณีพิเศษ โดยตำหนิประธานาธิบดีทรัมป์ที่ออกมากล่าวเรียกร้องให้ถอดถอนผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลาง ประจำกรุงวอชิงตัน

โดยขณะนี้ศาลฎีกาต้องทำงานอย่างหนัก เนื่องจากมีคดีมากมายที่หลั่งไหลประเดประดังเข้าสู่ศาลฎีกา ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคดีที่แสนจะท้าทายอำนาจที่เปรียบเสมือนกฎเหล็ก “Executive Order” ของประธานาธิบดีทรัมป์แทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้หัวหน้าผู้พิพากษาเจมส์ โบอัสเบิร์ก แห่งรัฐบาลกลาง ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ได้เขียนคำวินิจฉัยยาว 37 หน้าระบุว่า ทำเนียบขาวนำข้อกล่าวอ้างแบบผิดๆที่ออกมาระบุว่า ชาวเวเนซุเอลา 260 คนที่ถูกส่งไปคุมขังที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ เป็นพวกแก๊งอันธพาล ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด แถมยังมิให้ชาวเวเนซุเอลาเหล่านั้นได้มีโอกาสแก้ต่างในศาลตามกระบวนการยุติธรรม โดยทำเนียบขาวใช้พระราชบัญญัติ The Alien Enemies Act โดยเลือกใช้ข้อกฎหมายที่อ้างมาผิดๆ (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ “Judge Maintains Bock on Deportations of Venezuelans Under Wartime Law, March 24, 2025)

โดยมี “ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟรีดแมน” นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับศาลฎีกามาอย่างเชี่ยวชาญได้ออกมากล่าวว่า “ข้าพเจ้าสงสัยว่าประธานศาลฎีกาจอห์น โรเบิร์ตส์ มีทัศนคติที่เหยียดหยามต่อประธานาธิบดีทรัมป์ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ประธานศาลฎีกาท่านนี้เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการ”

ส่วน “ฮาซิส ฮัก” ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่ง “มหาวิทยาลัยชิคาโก” ได้ออกมากล่าวว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินการต่างๆอย่างมากมาย เพื่อต้องการที่จะสั่งปิดแผนกต่างๆของรัฐบาลกลาง ต้องการที่จะไล่พนักงานรัฐบาลออกหลายพันคน และต้องการที่จะขจัดนโยบายต่างๆที่เขาไม่ชื่นชอบ โดยการที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังตั้งหน้าตั้งตาดำเนินอยู่นี้ เขาทำราวกับว่ากฎหมายไม่มีความสำคัญ”

อีกนัยหนึ่งขณะนี้ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการที่จะเพิ่มขยายอำนาจของตนเองให้มีมากขึ้น โดยเริ่มจากการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษารัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ตามยังมีคดีหนึ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ถูกฟ้องร้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากๆที่อาจจะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ และคดีนี้อยู่ในมือของศาลฎีกาเกี่ยวกับประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ต้องการให้เด็กทารกที่เกิดจากบิดาและมารดาที่มิได้เป็นสัญชาติอเมริกัน ได้รับสัญชาติอเมริกัน

 ในกรณีสิทธิพิเศษของเด็กที่เกิดในแผ่นดินสหรัฐฯที่บิดามารดาเดินทางเข้าสหรัฐฯอย่างผิดกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขในปี 1868 ได้ระบุเอาไว้ว่า เด็กๆทุกคนที่ถือกำเนิดในแผ่นดินสหรัฐฯถือว่าได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ (Birthright) แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับไม่เห็นด้วย!!!

ทั้งนี้มีองค์กรหลายหน่วยงานตามติดมาด้วยอัยการรัฐต่างๆอีก 23 รัฐที่ออกมาผนึกเข้าร่วมกันเป็นโจทก์ โดยขณะนี้คดีนี้ยังอยู่ในมือของศาลฎีกา ซึ่งคงจะกลายเป็นหนังซีรีย์หลายม้วนกว่าที่ศาลฎีกาจะมีมติออกมา

นอกจากนั้นก็ยังมีคดีต่างๆอีกมากมายที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังถูกดำเนินการฟ้องร้อง

กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นการออกมาฟาดงวงฟาดงาแผลงฤทธิ์ของ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์”ที่ต้องการจะถอดถอนผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลาง ประธานาศาลฎีกาให้กระเด็นออกจากตำแหน่ง ซึ่งอาจจะเป็นการทำแบบมิทันได้คิด จนเดินล้ำเส้น โดยวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจผู้มากด้วยอิทธิพลของสหรัฐฯในครั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ และตราบใดที่การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ยังถูกฟ้องร้องอย่างมากมาย แน่นอนว่าคดีเหล่านั้นล้วนต้องถึงมือของศาลฎีกา ดังนั้นการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการที่จะเพิ่มอำนาจของตนให้มีมากขึ้น ด้วยการลดทอนอำนาจของศาลให้ลดต่ำลง นับเป็นการตัดสินใจที่ผิดอย่างมากมายมหาศาลละครับ