ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“ความเป็นไทย” ที่ยังอยู่ยั่งยืนและโดดเด่น ก็เป็นด้วยความสามารถในการประสานกลมกลืนและความเข้มแข็งในเอกลักษณ์ที่ดีงามต่าง ๆ

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถูกเลี้ยงดูมาท่ามกลาง “ความเป็นไทย” และ “ความเป็นฝรั่ง” ผสมกัน ท่านเล่าให้ฟังว่าคนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกในสมัยก่อนจะ “กลัวฝรั่ง” กันทุกคน ถ้าไปเรียนตอนที่เป็นเด็ก ๆ อายุน้อย ๆ ก็จะกลัวความ “ตัวใหญ่” ของฝรั่ง ถ้าเป็นนักเรียนที่โตหน่อยก็กลัวในเรื่อง “ภาษา” เพราะไม่คุ้นกับภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเป็นนักเรียนผู้ใหญ่หรือที่เข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็กลัวว่าจะเรียนสู้เขาไม่ได้

สำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าท่านไม่กลัวอะไรเลย รู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ ตั้งแต่ออกจากท่าเรือที่กรุงเทพฯ ที่จะได้เป็นเห็นบ้านอื่นเมืองอื่น ตื่นเต้นในความกว้างใหญ่ของท้องทะเลเมื่อออกไปสู่อ่าวไทย และตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจเมื่อได้เปลี่ยนเรือลำใหญ่ที่สิงคโปร์ รวมทั้งตื่นตาตื่นใจไปเรื่อย ๆ ในทุกท่าเรือที่เรือขึ้นเทียบท่าเพื่อพักเรือและเสริมเสบียงกรัง จนกระทั่งถึงลอนดอน ซึ่งความตื่นเต้นก็มีมากเป็นที่สุด จนลืมนึกถึงเมืองไทยที่จากมาเป็นเดือน ๆ นั้นไปเลย

หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล เป็นเพื่อนในวัยเรียนที่สนิทสนมกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาก ๆ ท่านหนึ่ง ในหนังสือ “คึกฤทธิ์ 60” ท่านชายทรงเขียนถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “คุณชายกับข้าพเจ้ามาประสบพบกัน เริ่มด้วยเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ในโรงเรียนเดียวกัน คือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คุณชายเรียนอยู่ชั้นสูงกว่าข้าพเจ้า 2 ชั้น ... คุณชายได้ลาออกจากโรงเรียนเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 7 เพื่อไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ส่วนข้าพเจ้านั้นได้เรียนอยู่จนจบชั้นมัธยม 8 เมื่อ พ.ศ. 2472 และได้เข้าเป็นนักเรียนฝึกหัดที่กระทรวงมหาดไทยรวมเป็นเวลา 6 เดือน จึงได้รับทุนของกระทรวงมหาดไทยไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในเดือนตุลาคม 2473”

ท่านชายอาชวดิศทรงบรรยายถึงตอนที่ไปเจอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในประเทศอังกฤษว่า “พอข้าพเจ้าไปถึงประเทศอังกฤษก็พอดีเป็นฤดูหยุดภาคเรียนของเรียนของโรงเรียน ผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษจึงจัดให้ข้าพเจ้าไปอยู่กับครอบครัวแชคเกิลตัน ... เจ้าของบ้านเป็นคนใจดี คุยสนุก ทำอาหารไทยให้รับประทานบ่อย ทุกฮอลิเดย์จึงมีนักเรียนไทยจองที่จะมาอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 8 คนเสมอ ตอนค่ำวันหนึ่งหลังจากที่ข้าพเจ้ามาอยู่กับครอบครัวนี้แล้วประมาณ 3 วัน นายแชคเกิลตัน เจ้าของบ้านเปิดประตูห้องที่เรานั่งกันอยู่เป็นประจำเข้ามา และเจาะจงเรียกข้าพเจ้าแล้วบอกว่า ขอแนะนำให้รู้จักกับหม่อมราชวงศ์คูกริ๊ด ปราโมช คุณชายมองดูหน้าข้าพเจ้าแล้วอุทานว่า รู้จักแล้ว ยังจำได้ เคยอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบด้วยกัน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเคยสนทนากับคุณชาย”

“คุณชายพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เก่งเหลือเกิน สามารถเล่าเรื่องต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงขบขัน ทำให้คนฟังหัวเราะอย่างท้องคัดท้องแข็ง และถ้าจะเล่าเรื่องเมืองไทยให้ฝรั่งฟัง ก็มีความรอบรู้เป็นอย่างดี อธิบายอย่างแจ่มแจ้ง แสดงว่าเป็นคนฉลาดอย่างไม่ต้องสงสัย” ท่านชายพูดถึงความสามารถของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งยังรวมถึงอีกหลาย ๆ เรื่องในความสามารถอันเป็นพิเศษ อย่างเช่นเรื่องการทำอาหารและการเรียนหนังสือ

“คุณชายได้แสดงความสามารถพิเศษให้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าอีกอย่างหนึ่งเมื่อพบกันครั้งแรกในประเทศอังกฤษ คือการทำครัว พวกนักเรียนไทยมักจะคุยกันอยู่จนดึกแทบทุกคืน เพราะต่างคนต่างมากันคนละถิ่น เรื่องเล่าจึงมีมาก พอถึงเวลาสองยามก็มักจะหิว คุณชายรับหน้าที่เป็นพ่อครัวจัดทำข้าวต้มปลาบ้าง ข้าวต้มกับบ้าง เป็นที่เอร็ดอร่อยกันเสียนี่กระไร ... คุณชายกับข้าพเจ้าเขียนจดหมายติดต่อกันบ่อย คุณชายมาเล่าให้ฟังว่าในการสอบไล่หรือคัมภีร์ศาสนาคริสเตียน คุณชายได้รับรางวัลที่ 1 ไม่ใช่แต่ของโรงเรียนเท่านั้น แต่ได้รับรางวัลที่ 1 ของมณฑลด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติอย่างสูง”

“คุณชายเป็นคนกว้างขวางในหมู่นักศึกษาชาวต่างประเทศมาก ... ยังจำได้ว่าเมื่อคุณชายมีอายุครบบรรลุนิติภาวะ (คงเป็นช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2474 - ผู้เขียน) ได้จัดงานเลี้ยงกลางคืนในออกซฟอร์ดอย่างหรูหรา ข้าพเจ้าเองก็ได้รับเชิญไปในงานนี้ด้วย  แขกทุกคนแต่งชุดราตรี งานนี้มีแขกประมาณ 30 คน สนทนาปราศรัยกันอย่างสนุกสนานอยู่จนดึกดื่น...” และในเวลาต่อมาก็เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในประเทศไทย “ตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษลงข่าวพาดหัวว่า เกิดมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศสยาม ครอบครัวที่ข้าพเจ้าอยู่ด้วยพยายามปลอบโยนข้าพเจ้าไม่ให้เสียสติ เพราะข่าวนั้นมีว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพถูกจับไปเป็นประกัน ข้าพเจ้าตั้งใจจะไปหาคุณชายเพื่อปรับทุกข์ในเช้าวันนั้น แต่พอรับประทานอาหารเช้าเสร็จคุณชายก็เดินมาหาข้าพเจ้าที่บ้าน ในมือมีหนังสือพิมพ์ติดมาด้วย 2-3 ฉบับ พอเห็นหน้าคุณชายก็ออกอุทานว่า กรุงสยามถูกพม่าตีแตกอีกแล้ว ข้าพเจ้างง ถามว่าทำไมจึงพูดอย่างนั้น คุณชายก็ตอบว่า ท่านไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์หรือ ก็หัวหน้ามีชื่อว่า โบลาไอ้อาโฮ่ หนังสือพิมพ์ที่เขียนชื่ออ่านได้อย่างนี้คือหนังสือพิมพ์เดลีเอกสเพรส ต่อมาจึงทราบว่าบุคคลที่กล่าวคือพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่ฝรั่งสะกดชื่อพิสดารอ่านได้อย่างนั้นจริง ๆ”

ท่านชายอาชวดิศคือโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งในยุคนั้น จึงตกใจมาก ๆ เมื่อพระบิดามาถูกคณะราษฎรจับกุมเป็นตัวประกัน แต่พอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เข้ามาพูดเรื่องร้ายแรงนั้นให้เป็นเรื่องขำขัน ก็ลดความรู้สึกตกใจนั้นได้พอควร ทั้งนี้ในส่วนของนักเรียนไทยคนอื่น ๆ ก็คงจะตกใจจนถึงขั้นเสียขวัญมาก ๆ พอ ๆ กัน แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พูดถึงวันประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นว่า มีนักเรียนไทยในอังกฤษจำนวนมากได้แสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะคงจะมีคนที่ “เบื่อเจ้าพวกเก่า” อยู่เป็นจำนวนมาก ถึงขั้นที่มีการเฉลิมฉลองในหมู่นักเรียนไทยที่ประเทศอังกฤษอย่างเอิกเกริกสนุกสนาน

ในปี 2476 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เรียนจบจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แต่ท่านชายอาชวดิศยังเรียนไม่จบ แต่ก็ถูกรัฐบาลไทยเรียกตัวกลับเพราะเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล(คงเนื่องจากปัญหาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ทั้งสองคนได้โดยสารเรือลำเดียวกันเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งท่านชายเขียนถึงช่วงเวลานั้นว่า “เราได้เดินทางกลับมากรุงเทพฯโดยเรือลำเดียวกัน ข้าพเข้ามาลงที่เมืองปีนังเพราะเสด็จพ่อของข้าพเจ้า(สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ)ขณะนั้นไปประทับที่ปีนัง คุณชายเดินทางต่อโดยทางเรือเข้ากรุงเทพฯ ณ เมืองปีนังนี่เองที่คุณชายได้ทราบข่าวอันแสนสลดว่า หม่อมแดง ปราโมช หม่อมแม่ของคุณชายได้ถึงแก่กรรม ความจริงหม่อมแม่ของคุณชายถึงแก่กรรมมานานแล้ว แต่ทางบ้านไม่บอกให้ทราบเพราะคุณชายกำลังสอบไล่ครั้งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด”

“เมื่อกลับมากรุงเทพฯแล้ว คุณชายและข้าพเจ้าก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอ มารดาของข้าพเจ้า หม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา รักใคร่เอ็นดูคุณชายมากเป็นพิเศษ ด้วยความสงสารที่เห็นเธอเป็นเด็กกำพร้าแม่ จึงบอกคุณชายว่าขอรับเป็นลูกด้วยอีกคน”

ทั้งสองท่านยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันเสมอมา ในครั้งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แต่งงานกับ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ ใน พ.ศ. 2482 ท่านชายอาชวดิศก็รับเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว ต่อมาเมื่อมีการตั้งธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ ใน พ.ศ. 2487 โดยพระพินิจชนคดีพี่เขย(สามี ม.ร.ว.บุญรับ ปราโมช)ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ท่านชายอาชวดิศก็มาทำงานและต่อมาได้เป็นผู้บริหารของธนาคารนี้ด้วย เช่นเดียวกันท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่ก็มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองประธานกรรมการของธนาคารนี้

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนมีเพื่อนมากอยู่ในทุก ๆ วงการ แน่นอนว่าท่านจะต้องเป็นคนที่มีเสน่ห์มาก ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือ “ความน่ารักอย่างหลากหลาย” ที่มีอยู่ในตัวของท่านนั่นเอง