ศุภลักษณ์ หัตถพนม [email protected] สร้างความห่วงใยให้แก่ผู้ปกครองและสังคมไม่น้อย สำหรับคดีของนักเรียนวัยใสโรงเรียนสตรีชื่อดังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหลายภาคส่วนต่างออกมาเคลื่อนไหวสะท้อนมุมมองในมิติต่างๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเรื่องจะอยู่ในช่วงดำเนินคดีแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ให้ “บทเรียน” ต่อสังคมในวันนี้อย่างมากมาย พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงในกรณีดังกล่าวว่า “ครอบครัว” เป็นหน่วยที่สำคัญที่สุด ถ้าเทียบความรักความผูกพันที่มีให้ ก็จะมากกว่าคนข้างนอก เด็กแต่ละคนมีนิสัยไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนเกิดมามีความแตกต่างกัน ปรับตัวดีแตกต่างกัน มีความเข้าใจในหลายๆสิ่ง หลายๆอย่าง แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าครอบครัวแข็งแรง ไม่ว่าเด็กจะบุคลิกลักษณะไหนก็ตาม ก็จะผ่านพ้นวิกฤตชีวิตหลายๆอย่างได้ แต่ถ้าเด็กรู้สึกว่าครอบครัวที่เป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดไม่เข้าใจ รู้สึกไม่รัก รู้สึกไม่ผูกพัน หรือบางทีรู้สึกเหมือนถูกทำร้าย โดยการถูกทำร้ายในที่นี้มีหลายอย่าง ถูกทำร้ายทางร่างกาย ถูกทำร้ายทางจิตใจ บางครอบครัวไม่ได้ตี แต่ต่อว่าทุกวัน พูดเปรียบเทียบ ก็เป็นการทำร้ายจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเด็กรู้สึกว่าครอบครัวพึ่งไม่ได้ รู้สึกว่าไม่เป็นที่ไว้วางใจ ก็จะทำให้ "จุดเชื่อม" ที่จะทำให้จิตใจแข็งแรงหายไป และเด็กก็จะไขว่คว้า หาความผูกพัน ความรู้สึกดีต่างๆ จากข้างนอก ซึ่งถ้าเจอกลุ่มคนที่ดีก็จบ แต่ถ้าเจอกลุ่มคนไม่ดีก็จะถูกหลอก ถูกฉกฉวยโอกาสจากตรงนี้ได้ "เหมือนคนเราไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักให้คว้าจากคนในครอบครัว ก็ต้องคว้าข้างนอก เพราะฉะนั้น 'ครอบครัว' เปรียบเสมือน 'รากแก้ว' ที่สำคัญของใจ เพราะถ้าเราเกิดมาแล้ว รู้สึกถูกรัก รู้สึกถูกไว้วางใจ เราไว้ใจเขา เขาไว้ใจเรา รู้สึกปลอดภัย และรู้สึกเป็นที่ต้องการ ก็จะทำให้รู้สึก 'มีคุณค่า' เมื่อเรามีคุณค่าก็จะไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วก็ยังจะช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วย” แพทย์หญิงวิมลรัตน์กล่าวเสริม ขณะที่ในมุมของ “สถานศึกษา” แพทย์หญิงวิมลรัตน์กล่าวว่า โรงเรียนในประเทศไทยมีระบบในการช่วยเหลือดูแลเด็ก เช่น ครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา ครูแนะแนว ซึ่งบางโรงเรียนก็มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเข้มแข็งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่าง เด็กที่เรียบร้อยเด็กที่เรียนดีไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เขาอาจจะมีปัญหาของเขาแบบเงียบๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล โรงเรียนจึงต้องมีระบบในการค้นหา ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีระบบดังกล่าวอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อที่จะได้ดูแลเด็กให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น สำหรับน้องๆ “เยาวชน” สิ่งที่อยากจะบอกคือ ปัญหาบนโลกนี้ไม่ได้มีเราแก้ไขเพียงคนเดียว หากอยู่ในจุดที่ไม่กล้าคุยกับใครและไม่รู้จะทำอย่างไร ลองเปิดใจให้กว้างคุยกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ เช่น ครู หรือเพื่อนที่ไว้ใจ การรู้หลายคนก็จะช่วยกันคิดได้ จริงๆบนโลกนี้มีคนพร้อมที่จะช่วยเราเยอะ แต่ถ้ารู้สึกว่าคนใกล้ตัวยังไม่ใช่ ลองคุยหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 นอกจากนี้ยังมีสมาคมนักจิตวิทยาที่น้องๆสามารถโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาได้ หรือถ้าเป็นช่วงกลางคืนลองค้นหาเวปไซต์ที่ให้คำปรึกษาออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยหน่วยงานเหล่านั้นจะไม่เปิดเผยข้อมูลของเรา และสามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นกับเราได้ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ กล่าวว่า ในส่วนของ “สื่อมวลชน” เหตุการณ์พวกนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ อยากให้นำเสนอแต่ในส่วนของ “เหตุการณ์” เสนอว่าสาเหตุเหล่านี้เกิดจากอะไร ป้องกันตัวเองอย่างไร และจะหาทางออกใดได้บ้าง สุดท้ายถ้าชีวิตไปตกอยู่ในจุดที่ต่ำสุด คิดไม่ออกควรจัดการอย่างไร เป็นการนำเสนอข่าวที่ให้ “ปัญญา” มากกว่าเน้นนำเสนอข่าวที่ให้ “อารมณ์” และ “ดราม่า” ส่วนการนำเสนอถึงผู้ที่ตกเป็นข่าว อยากจะให้สื่อให้โอกาส ให้พวกเขามีชีวิตที่สดใส เพราะไม่มีใครอยากอยู่ในจุดนี้ ไม่อยากให้ซ้ำเติม
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าครอบครัวสำคัญที่สุด แต่ว่าแต่ละครอบครัวก็มีความพร้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ชุมชนและโรงเรียนต้องช่วยกันดูแลด้วย ช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้เด็ก
นอกจากนี้ในส่วนนโยบาย อาจจะมีการผลิตสื่อออกมาเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ 'เกม' หรือ 'คลิปวิดีโอขำๆ' แต่ควรเพิ่มความรู้ที่เข้าถึงผู้คนได้จริงๆ เช่น การดูแลเด็กควรทำอย่างไร หากเกิดปัญหาขึ้นใครช่วยได้บ้าง ระบบของการรักษาที่เข้าถึงโดยง่าย รวมไปถึงระบบกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการมีกฎระเบียบ คือต้องทำทุกๆส่วนเพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากเพียงเหตุเดียว” แพทย์หญิงวิมลรัตน์กล่าวทิ้งท้าย ... "บทชีวิต" ของแต่ละคนอาจแตกต่าง หากแต่ว่าบางบทนั้นกลับเป็น "บทเรียน" ให้ผู้คนได้ศึกษา ...