ครม.เคาะ พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.คุมตลาดหุ้นป้องกันการปั่นหุ้น สร้างราคา ทำ naked short sale ให้อำนาจสอบสวนคดีที่มีผลกระทบสูง ให้อำนาจเอาผิดผู้สอบบัญชี และเข้าไปดูแลเรื่องหุ้นกู้ "พิชัย" มั่นใจสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้น
วันที่ 27 มีนาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (27 พ.ย.) เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง พ.ร.ก.และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งจากมาตรฐานกฎหมายที่มีการปรับปรุงนี้เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นและตลาดทุนมากขึ้น
Ffpที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและความน่าเชื่อถือในตลาดทุน อย่างมีนัยสำคัญ เช่น บริษัทหลักทรัพย์มีการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดเนื่องจากใช้วิธีการ การขายหุ้นออกไปโดยที่นักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง (naked short sale) ซึ่งมีส่วนทำให้ดัชนีหุ้นไทยลดลงจากระดับ 1,600 จุดมาอยู่ในระดับปัจจุบัน นอจากนี้ยังมีการทุจริตฉ้อฉลของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน กรณีบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 15,708 ล้านบาท
นอกจากนี้กรณีผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนฎิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง และการถูกบังคับขายหุ้นที่นำไปจำนำหรือก่อภาระผูกพัน อันส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนความไม่เพียงพอของมาตรการทางกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล หากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการลงทุนในตลาดทุนไทย และอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและต่อประชาชนโดยรวม
ทั้งนี้จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้มีบทบัญญัติที่สามารถยับยั้งและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดทุนเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะตรา พ.ร.ก.ตาม มาตรา 192 ของรัฐธรรมนูญ โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เดิม ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ ก.ล.ต.โดยเฉพาะในการตรวจสอบ และดำเนินคดีควบคู่กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในธุรกรรมที่น่าสงสัยในตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับตลาดหุ้นและนักลงทุน
ขณะเดียวกันกรณีนี้จะครอบคลุมไปถึงประเด็นที่เป็นปัญหาเช่น ผู้สอบบัญชี ซึ่งเดิมนั้นจะเอาผิดเฉพาะบุคคลที่มีส่วนช่วยในการตกแต่งบัญชี หรือไม่รายงานข้อมูลที่ผิดปกติ โดยจะใช้มาตรฐานเดียวกับต่างประเทศที่เอาผิดไปยังบริษัทต้นสังกัดของผู้สอบบัญชีนั้นๆ เพราะว่าที่ผ่านมาข้อมูลที่ผ่านออกจากผู้สอบบัญชีอย่างไม่ถูกต้องจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างราคาหุ้น สำหรับในส่วนของหุ้นกู้ที่มีปัญหาในส่วนนี้กฎหมายที่มีการปรับเปลี่ยนก็จะให้อำนาจ ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบในส่วนของในส่วนของผู้แทนถือหุ้นกู้ด้วยว่าอยู่ในข่ายที่จะได้รับความคุ้มครองหากเกิดความเสียหายกับนักลงทุนหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีของการที่เจ้าของบริษัทนำหุ้นจำนวนมากไปจำนำนอกตลาด กำหนดให้มีหน้าที่ต้องรายงานมายัง ก.ล.ต.เพราะไม่เช่นนั้นกว่านักลงทุนจะรู้ก็เกิดความเสียหายแล้ว เรื่องเหล่านี้กฎหมายจะให้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบไว้ด้วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในตลาดมากขึ้น
สำหรับสาระในการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯมีสาระสำคัญรวม 7 ประเด็น ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) เพื่อให้การกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะการขายชอร์ตภายใต้หลักการร่าง พ.ร.ก. นี้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า สนง.ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสามารถได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการตรวจสอบการขายชอร์ตอย่างครบถ้วนและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทันท่วงทีซึ่งจะเป็นการรักษาความเชื่อมั่นในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยเพิ่มบทบัญญัติ ดังนี้
1)เพิ่มหน้าที่ผู้ลงทุนในการขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ คกก. กำกับตลาดทุนประกาศกำหนด เช่น ต้องแสดงได้ว่ามีการยืมหลักทรัพย์ก่อนส่งคำสั่ง เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการกำกับดูแลการขายชอร์ตของสากล
2)เพิ่มหน้าที่ของผู้ให้บริการในต่างประเทศซึ่งทำหน้าที่รับฝากหลักทรัพย์(custodian) หรือถือครองหลักทรัพย์แทนบุคคลอื่น (nominee service) หรือบริการอื่นใดให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง ต่อ สนง.ก.ล.ต.
3)เพิ่มบทยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวมหรือการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง แต่ผู้ใต้รับหรือครอบครองร้องจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นในชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องทราบไม่ได้ กำหนดโทษทางอาญาและการเปรียบเทียบปรับสำหรับผู้ที่ขายชอร์ตโดยฝ่าฝืน หลักเกณฑ์ที่ คกก. กำกับตลาดทุนกำหนด หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ หรือโดยประการอื่นที่น่าจะกระทบต่อเสถียรภาพต่อตลาดทุนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายของหลักทรัพย์ทั้งหมด แต่ทั้งนี้เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งการฝ่าฝืนหน้าที่การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาทและปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
2.การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน (เช่น ผู้สอบบัญชีและ สนง.สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน) ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สนง.ก.ล.ต. และเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ สนง.ก.ล.ต. ในการมีหนังสือเตือน การสั่งให้แก้ไข การเสนอมาตรการแก้ไขด้วยตนเองได้ (Enforceable taking) และการสั่งจำกัดหรือพักการประกอบการหรือสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพมีความน่าเชื่อถือและสามารถทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่อาจเกิดขึ้นในตลาดทุนได้
3.การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการมการแทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลายทั้งกระบวนการจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง เนื่องจากในปัจจุบันผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวในนามของตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวงได้ ทั้งนี้การปรับปรุงอำนาจของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้หลักการร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ จะช่วยให้สามารถดูแลรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่กำหนดให้ถือว่าการกระทำของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นการกระทำของผู้ถือหุ้นกู้โดยตรง โดยไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง
4.การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ โดยให้บุคคลใดที่กระทำการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์มีหน้าที่รายงานการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์นั้นต่อ สนง.ก.ล.ต.และให้ สนง.ก.ล.ต. มีอำนาจเปิดเผยรายงานการดังกล่าวต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนได้รับข้อมูลสำคัญอย่างครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน ลดช่องว่างการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
5.การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำความผิดและยับยั้งความเสียหาย และการมอบหมายบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินที่ยึดอายัด กรณีนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ มีการเข้าทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลกระทบต่อนิติบุคคลและประชาชนผู้ลงทุน ให้ คกก. ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราวได้ภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกิน 60 วันทำการและในกรณีที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนิติบุคคล สนง.ก.ล.ต. มีอำนาจปล่อยทรัพย์สินดังกล่าวได้โดยอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทนโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้มีเครื่องมือในการระงับยับยั้งการทำธุรกรรมของผู้ต้องสงสัยเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลดังกล่าวยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอันจะช่วยป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และผู้ลงทุนได้ รวมทั้งเพื่อช่วยให้กระบวนการตรวจสอบเพื่อปล่อยทรัพย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6.การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ (คดี High Impact) โดยเพิ่มหมวด "การสอบสวนคดี"เพื่อช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความรวดเร็วและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยกำหนดให้ สนง.ก.ล.ต. มีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสืบสวนและสอบสวน คดี High Impact รวมทั้งให้อำนาจ คกก. ก.ล.ต. ในการเป็นผู้พิจารณาและมีมติกำหนด ให้คดีใดเป็นคดี High Impact ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนได้นอกจากนี้ ในกรณีที่เลขาธิการ ก.ล.ต.เห็นว่า เพื่อประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำผิดจะให้มีการสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ กำหนดให้เลขาธิการ ก.ล.ต.และพนักงานที่เลขาธิการ ก.ล.ต. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนคดี High Impact และกำหนดให้คดีที่มีการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายหลายบท และบทหนึ่งเป็นคดี High Impact ให้พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯมีอำนาจสืบสวนสอบสวนสำหรับความผิดบทอื่นด้วย โดยให้ถือว่าการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนคดีตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนดให้ในกรณีที่พนักงานสอบสวนตาม ป.วิอาญา (ฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง)หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนคดีในเรื่องใดไปแล้ว แต่ในภายหลัง คกก. ก.ล.ต. ได้มีมติให้คดีนั้นเป็นคดี High Impactให้พนักงานสอบสวนตามกฎหมายอื่นดังกล่าวส่งมอบสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป กำหนดให้ รมว.คลัง มีอำนาจในการเสนอให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานใดในหน่วยงานของรัฐ มาปฏิบัติงานที่ สนง.ก.ล.ต. เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่ ครม. กำหนดในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนคดี
7.มาตรการการลงโทษกรณีมีการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ เพิ่มบทกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนภายใต้การกำกับดูแล ของ สนง.ก.ล.ต. ตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด (เช่น กรณีผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ บัญชีหรือข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่ คกก. กำกับตลาดทุนประกาศกำหนด หรือทำรารายงานเท็จหรือโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี - 10 ปี
#กลต #SET #ข่าววันนี้ #ปั่นหุ้น #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์