ประเทศไทยร่วมผลักดันการทูตวิทยาศาสตร์ในเวทีโลก ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ที่ยูเนสโก กรุงปารีส “สุชาดา” เลขาฯ รมว.อว.ชี้ กระทรวง อว. พร้อมเดินหน้าใช้วิทยาศาสตร์เป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือในภูมิภาค พัฒนาการทูตวิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี บริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน-เท่าเทียม

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.68 น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม Global Science Ministerial Dialogue on Science Diplomacy ระหว่างวันที่ 25–26 มีนาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกยูเนสโกเข้าร่วมประชุม
 
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้การทูตทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสร้างสันติภาพท่ามกลางบริบทโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

น.ส.สุชาดา ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมดังกล่าว ว่า ประเทศไทยตระหนักว่าการทูตทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมเสถียรภาพระดับภูมิภาคและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน โดยมีความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และการกำหนดนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน ซึ่งไทยมีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับบทบาทของการทูตทางวิทยาศาสตร์ในการส่งเสริมความร่วมมือ ผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 

เลขานุการ รมว.อว. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังได้เสนอให้ยูเนสโกเสริมสร้างกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีในหลายๆ เรื่อง ประกอบด้วย การอำนวยความสะดวกในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างสถาบันวิจัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและขับเคลื่อนด้วย AI การพัฒนาแนวทางภายใต้การนำของยูเนสโกสำหรับข้อตกลงการแบ่งปันเทคโนโลยีที่เป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างทางวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมความร่วมมือแบบใต้-ใต้ (South-South) และความร่วมมือแบบไตรภาคี (Triangular Cooperation) เพื่อขยายขนาดของนวัตกรรมระดับภูมิภาคและแนวทางแก้ไขปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงระดับรัฐมนตรี (Ministerial Statement) ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่าง “วิทยาศาสตร์” กับ “การทูต” ส่งเสริมหลักการของ “วิทยาศาสตร์แบบเปิด” (Open Science) และการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมของทุกภาคส่วน พัฒนากลยุทธ์และกรอบการดำเนินงานด้านการทูตทางวิทยาศาสตร์ในระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ และเสริมสร้างสมรรถนะเชิงสถาบันและทรัพยากรมนุษย์ด้านการทูตทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรม การแบ่งปันองค์ความรู้ และการเรียนรู้ร่วมกัน

“บทบาทของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ในการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์เป็น “สะพาน” เชื่อมโยงความร่วมมือระดับภูมิภาค และพัฒนาการทูตทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนอย่างเท่าเทียมกัน และยินดีที่จะได้ร่วมมือกับยูเนสโกและพันธมิตรระดับโลกเพื่อสร้างอนาคตที่การทูตทางวิทยาศาสตร์ช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจ ความยั่งยืน และสันติภาพ” น.ส.สุชาดา กล่าว