ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (เขตบางนา) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำโดยนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มอบหมายผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ และคณะร่วมให้การต้อนรับด้าน คณะผู้แทนจากองค์กร Regional Integrated Multi-Hazard Early Warning System (RIMES) และหน่วยงานรัฐบาลอินเดีย ได้แก่ The National Institute of Ocean Technology (NIOT) และ Indian national center for ocean information services (INCOIS) ในฐานะซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อการเตือนภัย โดยเฉพาะการเตือนภัยสึนามิ
โดยในโอกาสในการเยี่ยมการปฏิบัติงานด้านการเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และแสวงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการเตือนภัยระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งแจ้งความประสงค์ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยสึนามิ รวมถึงระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ให้แก่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”
ผู้สื่อข่าวรายงาน ความเป็นมาศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติสืบเนื่องจากว่า ประเทศไทยจัดเป็นพื้นที่หนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในแต่ละปีต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาตินานัปการ แต่ละปีมีความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินนับไม่ถ้วน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยพิบัติเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของประเทศเกิดจิตสำนึกและความตระหนักรู้ เตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันเหตุการณ์ ทันต่อเวลา อีกทั้งสามารถลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติลงได้
ซึ่งศูนย์เตือนภัยฯ ได้ก่อกำเนิดขึ้นอันเนื่องจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิในภาคใต้ของประเทศไทย (เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547) ซึ่งเป็นภัยพิบัติในธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยร้ายแรงที่สุด รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการเตือนภัยล่วงหน้า ก่อนตั้งคณะกรรมการศึกษาระบบการเตือนภัยล่วงหน้าขึ้น ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 16/2548 ลงวันที่ 11 มกราคม 2548 และคณะกรรมการศึกษาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ได้มีคำสั่งที่ 17 /2548 ลงวันที่ 8 เมษายน 2548 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้น โดยมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการระบบการเตือนภัย ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการเตือนภัย การบริหารและควบคุมการปฏิบัติงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2548 กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “กภช” โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน กรรมการเป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง/กรมที่เกี่ยวข้อง
พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “ศภช.” เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ในฐานะเป็นฝ่ายปฏิบัติและเลขานุการของ “กภช” อยู่ภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในระยะแรกมีสำนักงานเดิมตั้งอยู่บนถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โดยจัดให้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548
ต่อมาได้มีระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วย การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2548 และระเบียบฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงฯ พ.ศ. 2551 และสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้มีคำสั่งที่ 663/2552 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 กำหนดการแบ่งส่วนราชการภายใน ศภช. ออกเป็น 4 กลุ่มงาน 1 ศูนย์ และ 1 ฝ่าย ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ชั้น 6 อาคารรัฐประศาสนภักดี และมีศูนย์ปฏิบัติการที่บางนาภายในบริเวณเดียวกันกับกรมอุตุนิยมวิทยา
ท้ายสุดพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 มาตรา 18 และ 19 ให้โอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีของสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลัง เฉพาะศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปเป็นของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย