นายอำเภอศรีราชาเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ (ส่วนต่อขยาย) บริษัท ศรีราชา ทักโบ๊ต จำกัด

วันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ศาลาประชาคมอ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นางปณิดา พันธุ์โชติ นายอำเภอศรีราชา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 สำหรับการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ (ส่วนต่อขยาย) ของบริษัท ศรีราชา ทักโบ๊ต จำกัด

โดยมีนายพยนต์  ศรีโน้ต  กรรมการบริษัท ศรีราชา ทักโบ๊ต จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ บริษัท ศรีราชา ทักโบ๊ต จำกัด ก่อตั้งในเดือนกรกฏาคม 2536 ตั้งอยู่เลขที่ 162 หม่ที่ 1 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเรือ ให้บริการเรือลากจูง รวมถึงมีระบบดับเพลิงกับระบบกำจัดคราบน้ำมันทางทะเล ให้บริการทั้งเรือต่างชาติและเรือไทย โดยมีเรือลากจูงทั้งหมด 30 ลำ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีท่าเทียบเรือที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567  ที่ผ่านมา

จากการดำเนินการที่ผ่านมา บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจบริการท่าเทียบเรือเพิ่ม เพื่อให้บริการขนถ่ายสินค้าทั่วไปเป็นท่าเรือทางเลือก ของผู้ใช้ท่าเรือขนถ่ายสินค้า และทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการขนถ่ายสินค้ามากขึ้น  โดยบริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะก่อสร้างท่าเทียบเรือ และสะพานท่าเทียบเรือเชื่อมต่อจากปลายท่าปัจจุบัน  มีขนาดความยาวหน้าท่าเทียบเรือของโครงการรวม 287.50 เมตร  และมีพื้นที่หน้าท่ารวม 9,884 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่หน้าท่า พื้นที่ติดตั้งเครน พื้นที่สำนักงานและความปลอดภัยอื่นๆ ส่วนสะพานท่าเทียบเรือ  มีความกว้าง 13 เมตร ยาว 300 เมตร เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าทั่วไป (General Cargo) ขนาดมากกว่า 500 ตันกรอส ได้แก่ ตู้คอนเทนเนอร์น้ำตาลกระสอบ ข้าวสารกระสอบ เครื่องจักร ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องมือ และสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทั่วไป  ทั้งนี้มีความลึก 9.87 เมตร ซึ่งมีความลึกเพียงพอโครงการไม่จำเป็นต้องขุดลอกร่องน้ำ 

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เข้าข่ายกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ElA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566  เพื่อนำเสนอร่างผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชน คณะกรรมการชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มประมง และหน่วยงานภาครัฐโดยรอบรับทราบ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ของประชาชน เพื่อนำไปปรับปรุงในโครงการต่อไป