จากเมืองที่ได้ชื่อว่า เป็น “ชายหาดเกาะแก่งแห่งสวรรค์” ก็ทำท่าว่าจะกลายเป็น “เมืองร้าง” เข้าให้แล้ว

สำหรับ “กรุงพอร์ตวิลา” เมืองหลวงของวานูอาตู ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชฟา ทางตอนใต้ของเกาะเอฟาเต ย่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

ภายหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2024 (พ.ศ. 2567) วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.3 ตามมาตราริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางเหตุแผ่นดินไหวอยู่ในกรุงพอร์ตวิลา เมืองหลวงของวานูอาตู นั้นเอง

ความรุนแรงของเหตุแผ่นดินไหว ได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 14 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 265 ราย

แรงสั่นสะเทือนยังทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นสึนามิขนาดความสูง 25 เซนติเมตร พร้อมกับส่งผลกระทบผู้คนตลอดถ้วนทั่ววานูอาตูกว่า 80,000 คน เฉพาะในกรุงพอร์ตวิลา ก็มีจำนวน 38,000 คน สำหรับประชากรชาวกรุง ที่ได้รับความเดือดร้อน

ทว่า ผลกระทบจากธรณีพิโรธข้างต้น หาได้จบสิ้นไปไม่ โดยความเดือดร้อนของผู้คนในวานูอาตู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองหลวงกรุงไกรของประเทศอย่าง “กรุงพอร์ตวิลา” ที่ปรากฏว่า ประชาชนชาวกรุง ยังคงเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะในเรื่องที่อยู่อาศัย

โดยบ้านเรือนของพวกเขาต้องภินท์พังลงเป็นจำนวนมาก เพราะทนแรงสั่นสะเทือนไม่ไหว

แน่นอนว่าเจ้าของบ้านเรือนที่พังถล่มลงมาอย่างนี้ ก็ไม่สามารถเข้าพักพำนักอาศัยได้อีกต่อไปต้องรอสร้างใหม่

อาคารบ้านเรือนของผู้คนในกรุงพอร์ตวิลา พังถล่มลงมา หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ริกเตอร์ เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว (Photo : AFP)

ส่วนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายอื่นๆ ซึ่งแม้จะไม่ถึงขั้นพังทลายลงมา แต่ก็ผู้คนที่เป็นเจ้าของก็ไม่สามารถกลับเข้าไปพำนักอาศัยได้ เพราะบ้านลั่นร้าวจนเกรงว่า จะพังถล่มลงมาทับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดแผ่นดินไหว หรืออาฟเตอร์ช็อกตามมาขึ้นมาอีก ซึ่งในวานูอาตู ก็เผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า อย่าว่าแต่ประชาชนพลเมืองทั่วไปเลย แม้กระทั่งคนระดับประธานาธิบดี ผู้นำประเทศ คือ “นายนิเคนิเค วูโรบาราวู” ก็ยังไม่สามารถเข้าไปพำนักและทำงานใน “ทำเนียบประธานาธิบดี” ของตนเองได้เช่นกัน เพราะอาคารทำเนียบประธานาธิบดีได้รับความเสียหาย ผนังอาคารและหลังคาหลายจุด เกิดสภาพลั่นร้าวหลายแห่ง จนอาจเกิดอันตรายพังถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ จากพิษภัยของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

ตัวแทนทางการจีนทำพิธีส่งมอบทำเนียบประธานาธิบดีให้แก่วานูอาตู เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ก่อนเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหว (Photo : AFP)

จากสถานการณ์ของเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ก็ทำให้บรรยากาศภายในกรุงพอร์ตวิลา แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง เพราะประชาชนชาวต่างพากันไปพำนักอาศัยยังสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้านเรือนของตน เช่น ศูนย์พักพิงชั่วคราวต่างๆ หรือที่เลวร้ายก็ถึงขั้นอพยพออกนอกกรุงพอร์วิลา ไปตั้งต้นตั้งตัวกันใหม่ในเมืองอื่นๆ ที่พิจารณาดูแล้วจะปลอดภัยกว่ากันเลยก็มี

พร้อมๆ กับการจากไปของผู้คนนั้น ก็ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ดำเนินกิจการ การทำธุรกิจ ต้องหายไปจากกรุงพอร์ตวิลาแห่งนี้ ซึ่งสถานการณ์และบรรยากาศข้างต้น ก็ไม่ผิดอะไรกับการเป็นเมืองร้างกันไปแล้ว และยังไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์และบรรยากาศอันคึกคักของกรุงพอร์ตวิลา ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งของโลก จะหวนกลับมาดีดังเดิมเมื่อไหร่

กรุงพอร์ตวิลา เมืองหลวงของวานูอาตู หนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก (Photo : AFP)

โดยสภาพเมืองของกรุงพอร์ตวิลา ที่กลายสภาพภินท์พังจากแรงสั่นสะเทือนของเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 7.3 ตามมาตราริกเตอร์ดังกล่าว หลายคนชาวเมืองก็ชี้นิ้วกล่าวโทษไปยัง “จีน” มิใช่น้อย ในฐานะที่จีน เข้ามาขยายอิทธิพลด้วยการกลุ่มทุนจีนเข้ามาสร้างเมืองแห่งนี้ ตามนโยบายที่ทางการจีน รัฐบาลปักกิ่ง ต้องการขยายอิทธิพลลงมายังภูมิภาคตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ทำเนียบประธานาธิบดี” อันเป็นที่พำนักและที่ทำงานของประธานาธิบดี ผู้นำประเทศของวานูอาตูนี้ด้วยเหมือนกัน ก็เป็นการสร้างโดยจีน

ทั้งนี้ ทำเนียบประธานาธิบดีของวานูอาตูข้างต้น สร้างขึ้นบนยอดเนินเขาชายทะเลโดยทางรัฐบาลปักกิ่ง สนับสนุนการสร้างด้วยการจัดสรรงบประมาณมาให้แบบบริจาคให้ คิดเป็นมูลค่าก็ราวๆ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณกว่า 1,050 ล้านบาท โดยทางการจีนได้ส่งมอบทำเนียบประธานาธิบดีแห่งนี้แก่ทางการวานูอาตู เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนี้เอง

อย่างไรก็ดี แม้จะระบุว่า เป็นการบริจาค แต่ก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า มีอะไรเป็นข้อผูกมัดผูกพันกันหรือไม่ ระหว่างจีนกับวานูอาตู รวมไปถึงความหวั่นเกรงจากหลายฝ่ายในเรื่องที่วานูอาตู อาจจะตกอยู่ในสถานะติดกับดักหนี้ทางการทูตของจีน เหมือนกับที่หลายๆ ประเทศประสบ

โดยความเคลื่อนไหวของจีนดังกล่าวข้างต้น ก็ทำให้ “ออสเตรเลีย” ประเทศที่ถูกยกให้เป็นพี่เบิ้มใหญ่ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ต้องจับตาความเคลื่อนไหวดังกล่าวกันอย่างไม่กะพริบ

เช่นเดียวกับบ้านเรือนอื่นๆ ของประชาชนในกรุงพอร์ตวิลา ก็ได้รับการก่อสร้างจากกลุ่มทุนจีน

นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เมื่อครั้งเดินทางเยือนกรุงพอร์ตวิลา เมืองหลวงของวานูอาตู โดยมีนายบ๊อบ โลห์กแมน นายกรัฐมนตรีวานูอาตู ให้การต้อนรับ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ นอกจากมีข้อกังขาในเรื่องการติดกับดักหนี้ทางการทูตของจีนแล้ว จำนวนไม่น้อยก็สงสัยเกี่ยวกับคุณภาพของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของจีนว่า ได้มาตรฐานของความปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัยหรือไม่? ซึ่งเป็นคำถามเดียวกัน หรือในทำนองเดียวกัน เมื่อพูดถึงสินค้าต่างๆ ของจีน

ยกตัวอย่างเช่น ทำเนียบประธานาธิบดีวานูอาตู ที่ถูกสร้างบนยอดเนินเขา ซึ่งเมื่อกล่าวถึงพื้นที่แห่งนี้ ก็ไม่น่าที่จะสร้างขึ้นบนยอดเนินเขาอย่างนั้น ที่เสี่ยงอันตรายจากพายุ จากการที่แต่ละปี วานูอาตู ก็เผชิญกับวาตภัยหลายลูกด้วยกัน จากสภาพที่เป็นเกาะแก่งที่รายล้อมไปด้วยทะเลมหาสมุทร โดยประชาชนพลเมืองก็ผจญกับวาตภัยในแต่ละปีเป็นประจำ รวมไปถึงการเกิดภาวะดินโคลนถล่มเมื่อฝนตกหนักอยู่เนืองๆ

กระท่อมแบบชนพื้นเมืองในวานูอาตู ที่แม้จะหรูหราแต่ก็ปลอดภัยแก่พวกเขา สำหรับประเทศที่เผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงบ่อยครั้งเช่นนี้ (Photo : AFP)

นอกจากปัญหาวาตภัยแล้ว และดินโคลนถล่มแล้ว วานูอาตูยังมีภัยธรรมชาติที่พวกเขาเผชิญอยู่เป็นประจำ และแต่ละครั้งที่เผชิญก็หนักหนาสาหัสสากรรจ์อีกต่างหากด้วย นั่นคือ “ธรณีพิบัติภัย” หรือที่รู้จักกันเรียกกันติดปากว่า “แผ่นดินไหว” นั่นเอง ทั้งนี้ เนื่องจากวานูอาตู ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “วงแหวนแห่งไฟ” ในมหาสมุทรแปซิฟิก การชนของเปลือกโลก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ด้วยประการฉะนี้ พวกชาววานูอาตู ก็มีวิธีลดความเสี่ยงอันตรายด้วยการสร้างบ้านเรือนอย่างง่ายๆ ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งถ้าพังถล่มลงมาก็ไม่เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต แตกต่างจากอาคารแบบสมัยใหม่ที่กลุ่มทุนจีนเข้าไปสร้าง ซึ่งทำให้เสี่ยงอันตรายกว่ากันเป็นอย่างมาก โดยเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้น ก็ทำให้วานูอาตูแทบจะเป็นเมืองร้างอย่างที่เห็น