วันที่ 26 มี.ค.68 ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 21 Digital Health for All: Connected Care 'สุขภาพดิจิทัลเพื่อทุกคน สู่การดูแลสุขภาพที่เชื่อมโยง' โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เข้าร่วม
รศ.ทวิดา กล่าวถึงนโยบายเมืองสุขภาพดีและนวัตกรรมสุขภาพว่า กทม.มีนโยบายด้านสุขภาพดีทั้งหมด 24 นโยบาย ครอบคลุมเรื่องเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ Digital Health 6 นโยบาย เน้นการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ บริการตรวจสุขภาพเชิงรุก เช่น การลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยและการส่งต่อ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลด้านสุขภาพเชิง Analysis ทั้งประเทศที่ดีที่สุดอยู่ที่สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ทิศทางการส่งเสริมสุขภาพของเมืองได้ โดยเฉพาะข้อมูลจากโครงการตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน ปัจจุบันตรวจไปแล้วกว่า 500,000 คน ซึ่งข้อมูลที่ กทม.มีทั้งหมดสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดโครงการส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ ได้ แต่ปัญหาที่พบคือ หน่วยงานยังขาดการเรียงร้อยเชื่อมต่อข้อมูลที่มี และขาดการพัฒนาต่อยอด หรือร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่าง โครงการวิ่งล้อมเมือง จุดประสงค์หนึ่งเพื่อสนับสนุนให้ผู้เป็นโรคเบาหวานหันมาออกกำลังกาย แต่ปัญหาที่พบคือ จะทราบได้อย่างไรว่าผู้ที่ร่วมโครงการเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ซึ่ง กทม.มีข้อมูลจากการตรวจสุขภาพส่วนนี้ แต่ยังขาดการวิเคราะห์รายละเอียดเชิงลึกว่ากลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานคือใคร
"ปัญหาด้านเทคโนโลยีสุขภาพของ กทม. ขณะนี้คือ พัฒนาระบบ แต่ไม่นำข้อมูลมาใช้ เช่น แอปฯหมอ กทม. ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ว่า มีคนใช้สองแสนกว่าจากห้าแสน (ยอดตรวจสุขภาพ) คำถามคือ เป็นสองแสนการใช้งานจากกระบวนการ Algorithm หรือเป็นสองแสนที่เราเกือบจะบังคับดาวน์โหลดหน้าจุดตรวจสุขภาพ ซึ่งหากเป็นแบบนี้เราจะได้อะไร"
รศ.ทวิดา กล่าวว่า การมีเทคโนโลยีอย่างแอปฯ หมอ กทม.เป็นเรื่องดี ซึ่งมีข้อมูลสุขภาพจำนวนมาก สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ แต่ควรนำข้อมูลมาพัฒนาต่อ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวด้านสุขภาพระดับบุคคล เช่น เรื่องน้ำหนักเกิน มีข้อมูลอยู่แล้วว่าใครน้ำหนักเกิน หรือไขมันสูง สามารถเชื่อมโยงข้อมูลนำมาวิเคราะห์สภาวะเสี่ยงโรคเบาหวานของแต่ละคนได้ แล้วแนะนำวิธีการออกกำลังกายผ่านแอปฯ (Chatbot) เพื่อสื่อสารกลับไปยังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการแจ้งเตือนกำหนดครบรอบการตรวจสุขภาพ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มียอดผู้กลับมาตรวจสุขภาพเท่าที่ควร หมายความว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ยังเข้าไม่ถึงประชาชนตามนิยาม Digital Health for All
"ยกตัวอย่าง ในปีนี้ มีการเสนอให้นำคาเฟ่หมาแมวมาจัดในงาน BKK EXPO อีกครั้ง เนื่องจากปีที่แล้ว ยอด Engagement มีการโต้ตอบบนโพสต์ออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ 3-4 แสนครั้ง คำถามคือ เรามีสัตวแพทย์ไว้สร้างยอดแชร์เฟซบุ๊ก หรือมีสัตวแพทย์ไว้ให้หมาแมวมีผู้รับเลี้ยงต่อ (Adopt) ยอด Engagement 3-4 แสนที่ว่า หมาแมวถูกรับเลี้ยงต่อ 400 ตัว อะไรคือผลงานกันแน่ เวลาพูดถึงการนำข้อมูลมาใช้ คิดให้ถึงปลายน้ำด้วย"
รศ.ทวิดา กล่าวว่า ประโยชน์ของดิจิทัลคือการนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาต่อยอด ไม่ใช่การทำภาพกราฟิก เช่น การลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ ข้อมูลต่าง ๆ สามารถบอกได้หลายมิติเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานต่อไป เช่น จุดที่เหมาะสมในการตรวจ บางห้างสรรพสินค้ามีแต่ชาวต่างชาติ เปิดบริการไปก็ไม่มีประโยชน์ หรือการเปิดบริการในโรงพยาบาลติดต่อกัน 2-3 เดือน มีผู้เข้ารับบริการเพียงวันละ 20 คน ข้อมูลที่เกิดขึ้นสามารถนำมาปรับเปลี่ยนการดำเนินงานได้แล้ว หากนำมาวิเคราะห์ เพราะท้ายที่สุดการใช้เทคโนโลยีต้องนำข้อมูลที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
"อยากสื่อสารเรื่องนี้กับหมอ วันนี้เรามีเทคโนโลยีแต่เราไม่ใช้ เช่น การเชื่อมโยงร่วมมือกันในแต่หน่วยงาน ทั้งสาธารณสุขและโรงพยาบาล หวังว่านโยบายต่าง ๆ ที่ทำจะตอบโจทย์เรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในแง่สุขภาพได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดโครงการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันหมอมีข้อมูลด้านสุขภาพอยู่ในมือแล้ว หากรวมของเด็กด้วยก็ 750,000 คนแล้วตอนนี้ เกิน 10% ของฐานประชากร (5.49 ล้านคน) ที่จดทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครแล้ว" รศ.ทวิดา กล่าว