เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ที่ห้องประชุมเทศบาลนครนครศรีธรรมราช นายเชาว์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช พร้อมทีมผู้บริหารตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงกรณีการแจกข้าวสารถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยพายุปาบึกมีสิ่งเจือปนในข้าวสาร โดยผู้รับหลายจุดในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้บันทึกภาพส่งต่อพบว่าน่าจะเป็นข้าวสารคุณภาพต่ำ ซ้ำเติมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จนกระทั่งมีชาวบ้านออกมาร้องเรียนถึงความไม่เหมาะสม รวมทั้งส่งภาพผ่านสังคมออนไลน์เป็นวงกว้าง ในการแถลงชี้แจงนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า นายประภาส คณาศรี ถูกระบุว่าเป็นตัวแทนกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิ 105 จ.ร้อยเอ็ด ที่ส่งข้าวสารมาจำหน่ายให้กับเทศบาลเข้าร่วมชี้แจง โดยระบุว่า จะขอรับผิดชอบโดยจะขอรับคืนข้าวสารที่ไม่ได้คุณภาพทั้งหมด และมีกลุ่มชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มาร่วมรับฟังท่ามกลางผู้สนใจเป็นจำนวนมาก นายประภาส คณาศรี กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิ 105 จ.ร้อนเอ็ด ระบุว่า เรื่องข้าวที่ส่งมานั้นยอมรับว่ามีข้าวเก่าในส่วนที่ส่งมาก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดปัญหาเพราะไม่ทราบว่ามีสิ่งเจือปนหรือไม่ และมาทราบหลังมีข่าวออกมา ซึ่งยินที่จะเปลี่ยนข้าวสารที่มีปัญหาทุกกระสอบ ซึ่งระหว่างคู่สัญญาผู้ขายและผู้ซื้อ โดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะรับผิดชอบเพื่อรับคืนข้าวสารที่เสีย ทางผู้ผลิตพร้อมยินดีที่จะรับเปลี่ยนคืนโดยไม่มีเงื่อนไข ด้านนายเชาว์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีข่าวออกมา เนื่องจากเป็นการร่วมกันตรวจสอบ เพราะลำพังเทศบาลถ้าไม่มีข่าวออกมาก็คงไม่ทราบว่าข้าวสารที่นำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนนั้นไม่มีคุณภาพ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครเอามาคืน แต่ได้กำชับไปแล้วว่าถ้าประชาชนนำมาคืนทั้งหมด “เทศบาลไม่มีเจตนาที่จะซ้ำเติมผู้ประสบภัย โดยจำนวนข้าวสาร 32,000 ถุงนั้นอาจจะมีบ้างที่เสีย ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์แล้วมีการนำไปโพสต์ลงตามสื่อต่างๆ คิดว่าในช่วงสถานการณ์เช่นนี้เทศบาลขอยอมรับและไม่ขอแจ้งความแต่อย่างใด ในส่วนของผู้ผลิตข้าวนั้นก็จะไม่แจ้งความ แต่สิ่งไหนที่พกพร่องไม่สมบูรณ์ได้ตกลงกันว่าต้องคืนหรือเปลี่ยนให้ เพราะเท่าที่ตรวจสอบที่เสียมีจำนวนไม่มาก และต้องคืนทั้งหมด” นายเชาว์วัศ ระบุ อย่างไรก็ตามในเรื่องเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบข้อมูล ได้ตรวจสอบพบข้อมูลเบื้องต้นในการจัดซื้อคือข้าวสารจากหลายแหล่งประกอบด้วย (ร้าน น.) จำนวน 11,000 ถุง เป็นเงิน2,090,000 บาท (190/ถุง) ข้าวสาร (บริษัท นสร.) จำนวน10,000 ถุง เป็นเงิน 1,900,000 บาท (190/ถุง) ข้าวสาร (ร้าน ท.) จำนวน 5,600 ถุง เป็นเงิน1,064,000 บาท (190/ถุง) ข้าวสาร (วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์แห่งหนึ่ง) จำนวน5,600 ถุง เป็นเงิน 1,064,000 บาท (190/ถุง) รวมค่าจัดซื้อข้าวสารทั้งหมด จำนวน 32,200 ถุง เป็นเงิน6,118,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีการจัดซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋องจาก บริษัท อ.(มหาชน) ประกอบด้วยปลากระป๋อง จำนวน 1,500 หีบ เป็นเงิน2,100,000 บาท (1,400/หีบ ,14/กระป๋อง) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรุงเสร็จ จำนวน417 หีบ เป็นเงิน 360,288 บาท (864/หีบ ,4.8/ซอง) บะหมี่กึงสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งมะนาว จำนวน417 หีบ เป็นเงิน 360,288 (864/หีบ ,4.8/ซอง) รวมค่าจัดซื้อปลากระป๋องและบะหมี่กึงสำเร็จรูป เป็นเงิน2,172,576 บาท และมีการจัดซื้อถุงหูหิ้ว 15 x 30 นิ้ว จำนวน 1,600 ห่อ เป็นเงิน 80,000 บาท (50/ห่อ) รวมจำนวนเงินทั้งหมด8,370,576 บาท ขณะเดียวกันผู้ตรวจสอบรายนี้ได้สุ่มซื้อข้าวสารชนิดบรรจุถุงขนาด 5 กก.เป็นข้าวหอมมะลิคัดพิเศษ ในยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาดในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเปรียบเทียบราคาข้าวสารบรรจุถุงซึ่งเป็นการซื้อในราคาปลีก ปรากฏว่ามีราคาเพียงถุงละ 159 บาท มีราคาถูกกว่าการจัดซื้อของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชที่ซื้อจำนวนมากที่ราคา 190 บาทต่อถุง ทั้งที่เป็นการซื้อจำนวนมาก กลับมีราคาแพงกว่าราคาขายปลีกถึงถุงละ 31 บาท เฉพาะข้าวสารที่จัดซื้อทั้งหมด 32,200 ถุง จะมีส่วนต่างที่แพงกว่าราคาขายปลีกถึง 998,200 บาท