องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ขอแสดงความยินดีกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ที่กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจหรือกระทำโดยมิชอบ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 68 ของโลกที่ห้ามการลงโทษด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบภายในบ้าน โรงเรียน สถานสงเคราะห์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ตลอดจนสถานรับเลี้ยงเด็ก
การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิเด็กและส่งเสริมการสร้างวินัยเชิงบวกในการอบรมเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยยึดหลักการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กในทุกการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
ในประเทศไทย การลงโทษเด็กโดยใช้ความรุนแรงภายในบ้านมีแนวโน้มลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า จำนวนเด็กอายุ 1-14 ปีที่ถูกลงโทษด้วยความรุนแรงในบ้านลดลงจากร้อยละ 75 ในปี 2558 เหลือร้อยละ 54 ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ไม่มีเด็กคนใดควรต้องเผชิญกับความรุนแรงทุกรูปแบบ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญสู่การยุติความรุนแรงต่อเด็กให้หมดสิ้นไป
ยูนิเซฟผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กในการใช้วิธีการสร้างวินัยเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีทรัพยากรและองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้เด็กทุกคนได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอาใจใส่ ทั้งนี้ การศึกษาในระดับนานาชาติชี้ให้เห็นว่า กฎหมายที่ห้ามการลงโทษและการกระทำรุนแรงต่อเด็กจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเมื่อใช้ควบคู่ไปกับการให้ความรู้และการส่งเสริมการเลี้ยงดูเชิงบวกแก่พ่อแม่และผู้ปกครอง
ยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับรัฐบาล ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อยุติความรุนแรงและการละเมิดต่อเด็กในทุกรูปแบบ พร้อมส่งเสริมสิทธิและคุณภาพชีวิตของเด็กทุกคน แม้ยังคงต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ แต่การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิเด็กในประเทศไทย