ผกก.ยานนาวา เผย 3 ประเด็นสอบคดีแบงก์ดอลลาร์ปลอม พัวพัน 7 ราย มีชื่อ 'ดิว อริสรา' รวมอยู่ด้วย

วันที่ 25 มี.ค.68 ที่ สน.ยานนาวา พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ยานนาวา เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกบุคคลที่ถูกระบุชื่อว่ามีส่วนพัวพันในคดีแลกธนบัตรดอลลาร์สหรัฐปลอม จำนวน 7 ราย ในฐานะพยาน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของ “ดิว อริสรา” รวมอยู่ด้วย เพื่อให้เข้ามาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อพนักงานสอบสวน

เบื้องต้นมีบางรายเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว และบางรายได้ขอเลื่อนนัด ซึ่งจะมีการออกหมายเรียกครั้งถัดไปตามขั้นตอน ส่วนกรณีของนายโอ๊ต ซึ่งเข้ามาให้ปากคำก่อนหน้านี้ ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายผล

สำหรับ ดิว อริสรา เจ้าหน้าที่ได้ส่งหมายเรียกและติดต่อไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการประสานตอบกลับ

จากการตรวจสอบประวัติของพยานทั้ง 7 ราย พบว่า บางรายเคยถูกออกหมายจับในคดีอื่น เช่น ฉ้อโกง ยักยอก และเมาแล้วขับ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีตามหมายจับเหล่านั้นแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบว่าใครเคยถูกดำเนินคดีหรือออกหมายจับในคดีเงินปลอม 3 ประเด็นหลักที่ตำรวจเน้นสอบสวน ได้แก่

1. กรณีการกักขังหน่วงเหนี่ยว เกิดจากการแจ้งความโดยบิดาของ น.ส.เกด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ว่าลูกสาวหายตัวไป และให้ตำรวจไปตรวจสอบโรงแรมย่านสาทร ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่พบตัวผู้เสียหายจริง และนำตัวกลับมา สน.ยานนาวา ก่อนที่ น.ส.เกด จะขอถอนแจ้งความ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 กันยายน น.ส.เกด ได้กลับมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง พร้อมขอลงบันทึกประจำวันเอาผิดกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ได้เข้าแจ้งความเอาผิด ดิว อริสรา กับพวก ในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว เจ้าหน้าที่จึงต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่าเกิดการกักขังหน่วงเหนี่ยวจริงหรือไม่ เนื่องจากคำให้การของผู้เสียหายมีลักษณะกลับไปกลับมา หากพบว่าไม่เป็นความจริง จะดำเนินคดีกับผู้เสียหายในข้อหาแจ้งความเท็จ แต่หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง จะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทันที

2. กรณีแลกเงินดอลลาร์ปลอม เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินดอลลาร์ปลอม และว่ามีการแลกเปลี่ยนเงินปลอมเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีใครแจ้งความเรื่องธนบัตรปลอมเลย เรื่องนี้เพิ่งจะถูกเปิดเผยหลังจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องไปออกรายการโทรทัศน์ ขณะนี้ยังไม่พบของกลาง เช่น เงินสด 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 99 ล้านบาท และยังไม่พบหลักฐานว่าเป็นเงินปลอมหรือเงินดำตามที่มีการกล่าวอ้าง รวมถึงยังไม่มีผู้ใดให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับชายชาวจีนและชายผิวสีที่ถูกกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้อง

3. การตรวจสอบภาพ-หลักฐาน ภาพที่ปรากฏในรายการโทรทัศน์ ซึ่งอ้างว่าเป็นหลักฐานการตรวจสอบเงิน ยังคงอยู่ระหว่างการพิสูจน์ว่าเป็นภาพจริงหรือผ่านการตัดต่อ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำพนักงานโรงแรม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวันเกิดเหตุ พร้อมเก็บหลักฐานจากกล้องวงจรปิดไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในขณะนี้

ทั้งนี้ ตำรวจเน้นการสืบสวนบนพื้นฐานของพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนก่อนพิจารณาว่าบุคคลใดกระทำความผิดและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป