วันที่ 24 มีนาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน กับคณะ จำนวน 165 คน เป็นผู้เสนอ

เมื่อเวลา 15.35 น. นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายกล่าวหาว่า โกงค่าไฟประชาชน ทุจริตเชิงนโยบาย สานต่อขบวนการค่าไฟแพง ปล้นเงินประชาชนคนทั้งประเทศไปแลกดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่สนิทสนมกับนายกรัฐมนตรี ไล่เรียงความผิดของขบวนการทุจริตเชิงนโยบายว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินหน้าสานต่อการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนระยะ 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ แม้โครงการจะชะลอมา 3 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลตั้งใจโกงค่าไฟประชาชน 1 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย

โครงการดังกล่าวริเริ่มโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมีนาคม 2566 เป็นมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นเวลา 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่เองก็มาสานต่อและเดินหน้าโครงการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567

โดยมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาสู่รัฐบาลปัจจุบัน แม้จะมีมติให้ชะลอโครงการออกไปก่อน ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีคำชี้แจงจากนายกรัฐมนตรีว่าจะตัดสินใจอย่างไร หรือเป็นเทคนิครอให้ข่าวเงียบ เพื่อให้ไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนต่อได้

นายวรภพกล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ไม่มีการประมูลแข่งขันราคาแต่อย่างใด เพราะมีการกำหนดราคารับซื้อไว้แล้ว ราคาที่รัฐจะรับซื้อเป็นเส้นตรงคงที่ตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี คำนวณแล้วจะทำให้ค่าไฟของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ ยังซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด 2,000 เมกะวัตต์ของรัฐบาลเอง ที่อนุมัติก่อนหน้าไปแล้วในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 แต่ในเดือนกรกฎาคม 2567 รัฐบาลแพทองธารกลับเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนล้นเกินอยู่แล้ว หากรัฐรับซื้อไฟฟ้าโดยเกินความต้องการ ราคาก็จะมาหารในบิลค่าไฟของประชาชนทุกคน

นายวรภพกล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีการล็อกโควต้าเฉพาะเอกชนที่ยื่นโครงการในระยะแรก 2,100 เมกะวัตต์ จะได้รับสิทธิพิจารณาก่อนเพื่อน เอกชนส่วนหลังจะมีสิทธิเฉพาะ 5,200 เมกะวัตต์ที่เหลือในส่วนหลัง เหมือนกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ และปลอบใจรายเก่า

“กกพ.ก็กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติมีจำนวนมาก เอกชนที่ได้รับคะแนนเทคนิคสูงที่สุดจะได้รับคัดเลือกก่อน แต่ประเด็นที่เป็นข้อพิรุธทุจริตนโยบาย คือการรับซื้อไฟฟ้านี้นอกจากจะไม่เปิดประมูลแล้ว ก็ไม่มีการประกาศว่าหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิคคืออะไร พูดง่ายๆ คือ เป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้มหาศาล จิ้มเลือกได้เลยว่าต้องการให้เอกชนรายใดได้รับคัดเลือกในการที่จะได้กำไรดีๆ จากการขายไฟฟ้าให้รัฐ ที่ไม่ต้องประมูลแข่งขันอะไรเลย”

นายวรภพกล่าวหาว่า รัฐบาลเร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มทุนพลังงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวนายกรัฐมนตรี ออกงานกันสนิทสนม ร่วมโต๊ะโซน VIP กันหลายงาน และกลุ่มทุนพลังงานนี้ก็เป็นก๊วนกอล์ฟกับคุณพ่อของนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยออกรอบกันหลายครั้งด้วย “แต่การมีเพื่อนเป็นเจ้าสัว เป็นก๊วนกอล์ฟไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะครับ และรัฐบาลก็คงไม่ผิดอะไร ถ้ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีไม่ได้สานต่อ หรือเอื้อประโยชน์อะไร มันก็คงเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น”

นายวรภพ กล่าวว่า ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยคัดค้านโครงการนี้มาก่อน และศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ แต่กลับไม่มีการชะลอโครงการ แม้จะมีคำสั่งศาลปกครองที่ชี้ว่ากระบวนการคัดเลือกนั้นไม่โปร่งใส เนื่องจากรัฐบาลเอื้อผลประโยชน์นายทุนพลังงาน

จนทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มทุนผูกขาด และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟส 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ และเร่งรัดการเปิดเสรีพลังงานสะอาด (Direct PPA) พร้อมขอให้ยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ในส่วนที่ยังไม่ได้ลงนาม

“พอเป็นเรื่องประโยชน์ประชาชนรัฐบาลก็อ้างว่าต้องศึกษาอย่างรอบคอบ แต่พอเป็นเรื่องประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน รัฐบาลไม่รีรออะไรทั้งนั้น เอาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปเลย เพราะกลัวว่าประชาชนจะรวมพลังกันคัดค้าน เขาเลยต้องเร่งรีบลงนามสัญญา ราวกับรับคำสั่งมา ราวกับว่าการลงนามในสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ถึงรวดเร็วแบบนี้ หากย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้งก็ยิ่งตอกย้ำความผิดของการทุจริตนโยบายขบวนการค่าไฟแพงได้เป็นอย่างดี”

นายวรภพย้ำว่า ข้อกล่าวหาของตนคือการระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร รู้อยู่แล้วว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะทำให้ค่าไฟของประชาชนแพงขึ้น ทั้งยังแต่งตั้งบุคคลที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนมาเป็นรัฐมนตรี จากนั้นได้อ้างอิงจากข้อความในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย โดยย้อนไปถึงสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ยังเป็นนายกรัฐมนตรี

แล้วนายวันมูหะมัดนอร์ได้กล่าวขออย่าเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวว่าอดีตนายกรัฐมนตรี หรืออะไรก็ได้ แต่อย่าเอ่ยชื่อ เพราะไม่อยากให้มีการประท้วง ตนเห็นว่าการพูดถึงพรรคการเมืองอาจส่งผลสมาชิกของพรรค และในญัตติก็ไม่มีการระบุถึงชื่อพรรคการเมือง จึงขอให้อภิปรายในประเด็นที่อยู่ในญัตติ รวมถึงรัฐมนตรีพรรคอื่นก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

จากนั้น นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ขอใช้สิทธิประท้วงประธาน โดยถามว่า นายกรัฐมนตรีเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย มาตรฐานของประธาน คือนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเลยใช่หรือไม่ เพราะนี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันชัดเจน

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวยืนยันว่า ตามข้อบังคับต้องพูดในญัตติ เพราะหากพูดถึงพรรคการเมือง ตนก็ไม่ยอมเหมือนกัน

นายปกรณ์วุฒิกล่าวย้ำว่า ในญัตติระบุไว้ว่า เป็นนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งก็คือนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่ ถ้าจะพูดถึงพรรคการเมืองในสภาไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีสภาไว้ทำไม

นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงอีกว่า ไม่ใช่ว่าพูดไม่ได้ หากไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ก็ไม่เป็นอะไร ไม่งั้นจะเกิดการประท้วง แล้วจะเดินต่อไปไม่ได้ อย่าเถียงกันเลย ตนวินิจฉัยแล้ว ตอนที่ตนเป็นฝ่ายค้าน ตนก็ปรามประธานในที่ประชุมอย่างนี้ ยืนยันว่า ตนวางตัวเป็นกลาง เพราะไม่อยากให้สมาชิกมาตำหนิได้ ความเห็นแต่ละคนไม่ตรงกันเป็นไปได้ แต่ขออย่านำประเด็นนี้ มาพูดจนเกิดความเสียหาย ตนไม่เคยมีความตั้งใจเช่นนั้นเลย มาตรฐานอยู่ที่ข้อบังคับ

นายวรภพ อภิปรายต่อว่า รัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลที่แล้ว ซึ่งคือรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค อนุมัติสัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลที่แล้วเป็นคนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เจรจาได้แต่กลับไม่ทำ และพรรคการเมืองที่นายกรัฐมนตรีเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็กล่าวหารัฐบาลที่แล้ว เช่นเดียวกันว่า ต่อให้รัฐบาลที่อนุมัติโรงไฟฟ้า 2 โรงนี้ แต่รัฐบาลที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่างหากที่เป็นคนผิด

จนทำให้วันนี้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าล้นเกิน และทำให้ค่าไฟแพง ซึ่งในช่วงหาเสียงก็โบ้ยความคิดให้กับรัฐบาลที่แล้ว แต่พอตัวเองได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล กลับอนุมัติสัญญาซื้อขายอีกในรัฐบาลก่อนหน้า สานต่อขบวนการค่าไฟแพงอย่างไร้รอยต่อไป ทั้งที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็ม ในการยกเลิก หรือชะลอการลงนามได้ แต่ก็ไม่ทำ รู้ทั้งรู้ว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ค่าไฟของประชาชนแพงขึ้น “ที่นายกรัฐมนตรี เคยหาเสียงไว้ว่า มีกิน มีใช้ นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้หมายถึงประชาชน แต่หมายถึงกลุ่มทุนพลังงานเพื่อนพ่อหรือไม่ จึงดูราบรื่นไปหมดแบบนี้”

ส่วนข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่มีเอกชนในการฟ้องต่อศาลปกครองในเรื่องนี้เลยนั้น คำตอบคือ เงื่อนไขพิสดาร ในการล็อกโควตาซื้อไฟฟ้าเฟสสอง และยังมีการกำหนดว่า เอกชนที่จะยื่นเสนอ จะต้องไม่เป็นเอกชนที่ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐอยู่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขู่และปิดปากเอกชน พอหากมีการฟ้องร้อง จะไม่ได้รับสิทธิ์จากโควตาที่ล็อกไว้ให้ และแม้ว่าต่อมา จะมีการยกเลิกเรื่องการฟ้องร้องออกไปแล้วนั้น แต่การกระทำเช่นนี้ ได้บรรลุวัตถุประสงค์เรียบร้อย จนการลงนามในสัญญาสำเร็จ

รวมถึงมีการสานต่อโครงการในเฟสต่อไปแล้ว ดังนั้น ความผิดของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่สานต่อนโยบายค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทุกคนผ่านบิลค่าไฟ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่สนิทสนมกับนายกรัฐมนตรีและครอบครัว มีดังนี้ 1.เดินหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าเฟสสอง 3,600 เมกะวัตต์ ที่ทุจริตนโยบาย 2.เร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าเฟสแรกรอบ 5,200 เมกะวัตต์ ให้เพื่อนสนิทนายกรัฐมนตรี และพ่อ

“สำหรับผม ความเสียหายที่สุด สำหรับประเทศไทย ในการที่นายกรัฐมนตรีสานต่อขบวนการค่าไฟแพง คือการสานต่อกลุ่มทุนผูกขาดให้เติบโต แข่งขันกันหาผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ แข่งขันหารายได้จากการผูกขาด หาประโยชน์จากคนในชาติด้วยกันเอง และนายกรัฐมนตรีแพทองธาร สานต่อทุจริตนโยบาย เอาค่าไฟของคนทั้งประเทศ ไปแลกกับดีลของพ่อ หรือคนในครอบครัว ผมขอเป็นตัวแทนประชาชน หยุดการทุจริตเชิงนโยบายของรัฐบาล ยุติการปล้นจากกระเป๋าคนไทย โดยบิลค่าไฟ”

นายวันมูหะมัดนอร์ จึงแย้งว่า ในญัตติมีการขีดค่าคำว่าพ่อออกไปแล้ว ไม่ควรจะพูด จะพูดว่าเป็นดีลของรัฐบาลก็ได้

จากนั้นเมื่อเวลา 17.28 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่าตนอยู่ในสองรัฐบาลที่เป็นพรรคเพื่อไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทั้งสองท่านได้ทำอย่างดีและสนับสนุนให้ตนแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้า รวมถึงน้ำมันตั้งแต่ต้น ถ้าไม่มีสองท่านวันนี้หลายเรื่องที่ตนทำคงเดินหน้าไม่ได้ เรื่องไฟฟ้าตนเคยชี้แจงไปแล้ว หลังจากที่ท่านตั้งกระทู้ถามตนเรื่องนี้ นายกฯได้เรียกตนไปถามเรื่องนี้ว่าคืออะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร

ตนเสนอว่าอันดับแรกต้องหยุด อย่าเพิ่งเซ็นสัญญา จากนั้นทำหนังสือถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่พอตนทำหนังสือไป ทาง กฟภ.ประกาศเลยว่าตนไม่มีอำนาจ เพราะตอนนั้นเรายังไม่รู้เรื่องราวว่ารายละเอียดคืออะไร แต่ทาง กฟภ.เดินหน้าทำให้เราไม่มีทางเลือก นายกฯจึงได้เรียกประชุม

ดังนั้น ตนต้องขอความเป็นธรรมให้นายกฯด้วย เพราะท่านสมาชิกอภิปรายว่านายกฯหนี ไม่ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และวันนั้นท่านนายกฯตั้งใจจะนั่งเป็นประธาน กพช. แต่มีแขกสำคัญทำให้นายกฯบอกให้ตนดำเนินการเลยเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ดังนั้น ปัญหาที่ท่านพูด นายกฯไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่ได้เพิกเฉย

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ส่วนประเด็นอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (ADDER) ซึ่งความเป็นจริงเรื่องสัญญาชั่วนิรันดร์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ตนจึงแปลกใจว่าทำไมทาง กฟภ.เพิ่งมาพูด ส่วนที่หนักกว่านี้ซึ่งตนเห็นด้วย คือค่าพร้อมจ่าย (AP) ฉะนั้น ปัญหาในบ้านเราเรื่องพลังงาน คือเวลานี้อยู่กับใครกันแน่ ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนกำหนด ตนได้หารือเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยนายกฯเศรษฐาจนถึงนายกฯแพทองธาร

ขณะนี้ท่านกำลังวางรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด และหลายอย่างที่ท่านพูดอย่างเรื่องการวางแผนการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ (PDP) ที่ยังไม่จบ เพราะรัฐบาลไม่ยอม ไม่เห็นด้วย และไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะเปิดช่องให้นายทุน ตนไม่เห็นด้วยที่ปี 2580 จะใช้ไฟแสนเมกะวัตต์ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่รัฐบาลทำ แต่ทำโดยฝ่ายประจำ แต่ในฐานะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบก็ต้องดูแล

“สัญญาอะไรต่างๆ ที่บอกนายกฯไปเซ็นนั้นไม่มี สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นการเซ็นระหว่างหน่วยงาน คือ กฟผ.กับผู้ที่ประมูลได้ ไม่ใช่นายกฯหรือใคร และในรัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีการประมูลได้เลย ดังนั้น ที่ท่านสมาชิกอภิปราย ผมจะไม่บอกว่าท่านพูดจริงหรือไม่จริง แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่แบบนั้น นายกฯไม่ได้เกี่ยวข้องแบบที่ท่านอภิปราย และนายกฯไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

ถ้าผมอยู่ตรงนี้แล้วได้ประโยชน์กันหมดจะเป็นแบบนี้หรือไม่ สิ่งที่ท่านพูดทั้งหมด นายกฯ และรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น และที่ท่านพาดพิงถึงผม ผมก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น และตอนนี้กำลังหาทางแก้ปัญหามากกว่า ADDER อีก เรากำลังหาทางแก้ปัญหาทุกเรื่อง สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องแก้ปัญหามันหนักแค่ไหน เราก็พยายามทำ” นายพีระพันธุ์กล่าว