ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง นานทีไปเดินทอดน่องชมสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี อีกเป็นการอัพเดดภาพถ่ายโบราณสถานไปในตัว เมื่อไปเดินชมพระราชวังโบราณนี้ครั้งใด มีความรู้สึกสดชื่น เพราะมองไปทางมุมไหนมีแต่ความเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า ด้วยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่มีการดูแลรักษา และมีการบูรณะอาคารเก่าอยู่เนืองๆ อย่างวันที่ไป (8ก.ค.59) แลเห็นตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง อยู่บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ตั้งนั่งร้านซ่อมแซมอยู่ เที่ยวนี้ถือโอกาสนำเกร็ดประวัติความเป็นมาพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดสร้างขึ้น หรือที่ชาวเมืองลพบุรีเรียกสั้นๆ “วังนารายณ์” มาเผยแพร่ เผื่อว่าผู้ที่สนใจได้แวะไปเที่ยวพระราชวังโบราณแห่งนี้ โดยมีข้อมูลพิพิธภัณฑ์ข้างต้น เป็นไกด์บุ้กสังเขป สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ.2199-2231) ทรงโปรดฯให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาลีร่วมกันออกแบบและสร้างพระราชวังขึ้น ณ เมืองลพบุรี กำแพงเมือง และป้อมปราการต่างๆ ขึ้นในปี พ.ศ. 2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับว่าราชการงานเมือง ต้อนรับแขกเมือง พักผ่อนและล่าสัตว์ (มีข้อสันนิษฐานที่สำคัญ คือใน พ.ศ. 2207 เกิดกรณีพิพาทระหว่างฮอลันดากับไทย ฮอลันดาได้นำเรือมาปิดปากอ่าวไทย และบังคับให้ไทยทำสนธิสัญญาเสียเปรียบทางการค้าและเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำใหญ่ ไม่ห่างจากทะเล และด้วยเหตุผลการเมืองภายในประเทศ พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรี ใช้เป็นราชธานีที่สอง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ไกลจากแม่น้ำใหญ่ มีป่า ภูเขา สัตว์ป่าชุกชุมทำให้ต้องอัธยาศัยในการเสด็จเข้าป่าล่าสัตว์ ล้อมจับช้างในบริเวณป่าใกล้เมืองลพบุรี พระองค์จึงรู้สึกปลอดภัยเมื่อประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี, ข้อมูลเว็บไซต์สำนักวิทยบริการฯ ม.ราชภัฏเทพสตรี) ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์ สวรรคต (11 ก.ค. 2331) แล้ว พระราชวังนี้ได้ถูกทิ้งร้างลงเช่นเดียวกับเมืองลพบุรี จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดฯให้บูรณะพระราชวังแห่งนี้ และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ได้แก่ หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ (ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการถาวร โบราณวัตถุ ที่มีการขุดค้นพบในจ.ลพบุรี) หมู่ตึกพระประเทียบ และทิมดาบ พร้อมกับพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ผังเมืองพระราชวังโบราณนี้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่กว้าง 41 ไร่เศษ (ด้านข้อมูลเว็บไซต์ข้างต้นระบุ 43 ไร่) ด้านหน้าเข้าหาเมือง ด้านหลังติดแม่น้ำลพบุรี มีกำแพงก่ออิฐ ถือปูนและมีใบเสมาล้อมรอบ มีป้อมปืน 7 ป้อม ประตูสูงใหญ่รูปโค้งแหลมเล็ก 11 ประตู มีการเจาะช่องรูปโค้งแหลมเล็กสำหรับวางตะเกียง ให้ความสว่างไสวแก่พระราชวังยามค่ำคืน อันเป็นรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เขตพระราชฐานชั้นนอก มีอ่างเก็บน้ำ เป็นที่เก็บกักน้ำสำหรับใช้ภายในพระราชวัง, สิบสองท้องพระคลัง ที่เก็บสินค้าหรือสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ, ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง สถานที่เลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตชาวต่างประเทศ (บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยานเป็นตึกชั้นเดียวขนาดกระทัดรัด รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบสามด้านเป็นรูปตัวยู U ภายในคูน้ำมีน้ำพุพุ่งเรียงรายราว 20 แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากฝรั่งเศส ณ สถานที่แห่งนี้ ใน พ.ศ. 2228 และพ.ศ. 2230, อ้างแล้ว), ตึกพระเจ้าเหา เป็นหอพระประจำพระราชวัง, โรงช้างหลวง มีทั้งหมด 10 โรง  สิบสองท้องพระคลัง เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นที่ว่าประทับออกว่าราชการแผ่นดิน และประชุมองคมนตรี สันนิษฐานว่าเป็นพระที่นั่งสร้างขึ้นเป็นองค์แรกในพระราชวังแห่งนี้ ได้รับการบูรณะให้มีสภาพสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวร ภาพประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญและโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เป็นที่เสด็จออกรับคณะราชทูตต่างประเทศ เป็นพระที่นั่งเพียงองค์เดียวภายในพระราชวังแห่งนี้ มีหลังคาทรงมณฑปยอดแหลมหรือที่เรียกว่า “มหาปราสาท” ปัจจุบันคงเหลือพระที่นั่งเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ และสวรรคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้ (บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าพระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ 4 สระ ใช้เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐานรากเท่านั้น, อ้างแล้ว) กล่าวได้ว่าพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ทางด้านสถาปัตยกรรมแล้วแสดงถึงความรุ่งเรืองในช่วงสมัยหนึ่งของเมืองลพบุรีไปเที่ยวเมืองลพบุรี ควรมีโปรแกรมชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระราชวังโบราณนี้ด้วย พระที่นั่งจันทรพิศาล เจาะช่องรูปโค้งสำหรับวางตะเกียง ให้ความสว่างไสวแก่พระราชวังยามค่ำคืน เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์