วันที่ 23 มี.ค.2568 ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณะบดีวิทยาผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุคส่วนตัวระบุว่า
" การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับการเมืองแบบสามก๊ก : ศึกในสภา หรือเกมขุนพลอำนาจ ?
ในมหากาพย์ “สามก๊ก” เรามักเห็นผู้นำแต่ละฝ่ายใช้ทั้ง “ยุทธศาสตร์–พันธมิตร–การเจรจา–การเสียสละบางส่วนเพื่อรักษาส่วนใหญ่” เพื่อช่วงชิงอำนาจ และหากย้อนมองเวที “การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี” ที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะเห็นเงาของกลเกมแบบสามก๊กชัดเจนขึ้น
- ฝ่ายค้าน เปรียบเสมือน “เล่าปี่” ที่อ้างความชอบธรรมของประชาชน ใช้เวทีอภิปรายเป็นกลยุทธ์สร้างกระแส ปลุกพลังภาคประชาชน และกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
- รัฐบาล เสมือน “โจโฉ” ที่ครองอำนาจบริหาร มีกองหนุนในสภา และพร้อมตอบโต้ทุกข้อกล่าวหาเชิงเทคนิคด้วยความมั่นใจ แต่ก็เผชิญแรงสั่นสะเทือนภายใน
- พรรคร่วม/เสียงกลางในสภา อาจเทียบได้กับ “ซุนกวน” ที่ไม่เอียงข้างอย่างชัดเจน รอจังหวะเหมาะเจาะ พร้อมเลือกข้างหากมีผลต่อการอยู่รอดทางการเมืองในระยะยาว
แม้เวทีอภิปรายจะถูกมองว่าเป็น “สนามรบของวาทกรรม” แต่ความจริงมันคือการเปิดฉาก ศึกข่าวสาร+การต่อรอง+การวางหมากล่วงหน้า ซึ่งอาจไม่ได้จบแค่ในสภา แต่ขยับโยกผลประโยชน์ ตำแหน่ง และพันธมิตรในระยะยาว
คำถามสำคัญคือ:
- ประชาชนคือใครในศึกสามก๊กนี้? เป็นเล่าชีผู้ดูเหตุการณ์ หรือเป็นไพร่พลที่ถูกดึงเข้าสู่การชิงชัย?
- การอภิปรายครั้งนี้คือ “ยุทธศาสตร์ชิงอำนาจ” หรือ “ความพยายามสร้างธรรมาภิบาล ในวิถีทางประชาธิปไตย”?
- ใครจะ “ยอมถอย” เพื่อรักษาพื้นที่ และใครจะ “ยื่นหมาก” เพื่อขยับฐานอำนาจ?
การเมืองแบบสามก๊กไม่ได้มีแค่สงครามช่วงชิงอำนาจ แต่เต็มไปด้วยศิลปะการเจรจา กลยุทธ์ และการรักษาอำนาจอย่างชาญฉลาด เราจึงควรมองการอภิปรายครั้งนี้ไม่ใช่แค่ในเชิง “แพ้–ชนะ” แต่เป็นการอ่านกระดานทั้งกระดานหมากรุกที่เต็มไปด้วยการเดินเกมล่วงหน้าและลับหลัง
โดยปกติทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจในระบบรัฐสภาไทย ที่ผ่านมา อยู่บนโครงสร้างขั้ว อำนาจแค่สองขั้ว หรือสองก๊กเท่านั้น รอบนี้แปลกไปกว่าทุกครั้งเพราะการเมืองไทยเข้าสู่โครงสร้างขั้วอำนาจแบบสามขั้ว สามก๊กเต็มตัว จึงต้องจับตาการอภิปรายและหลังการอภิปรายครั้งนี้อย่างใกล้ชิดว่า ผลลัพธ์สุดท้ายคืออะไร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบใด และสังคมได้อะไร ? "